ค้นหาบทความ search
พุทธศาสนา จึงเป็นศาสนาที่อาศัยสติปัญญา หรือ อาศัยวิชาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อทำลายความทุกข์ และต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น
การทำพิธีรีตอง เพื่อบูชาบวงสรวง อ้อนวอนบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่ใช่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่รับเข้ามาไว้ในศาสนาของพระองค์เลย เพราะเป็นสิ่งที่น่าขบขัน น่าหัวเราะ และถือเอาเป็นที่พึ่งอันแท้จริงไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธการกระทำเช่นนั้นโดยสิ้นเชิง
มีคำกล่าวในพระพุทธศาสนา "ความรู้ ความฉลาด และความสามารถ ที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์นั่นแหละ เป็นตัวฤกษ์ที่ดี อยู่ในตัวมันเองแล้ว ดวงดาวในท้องฟ้าจะทำอะไรได้ ประโยชน์ที่ควรจะได้ก็ผ่านพ้นคนโง่ๆ ที่มัวนั่งคำนวณดวงดาวในท้องฟ้าไปเสียสิ้น" ดังนี้ และว่า "ถ้าน้ำศักดิ์สิทธ์ในแม่น้ำคงคา ฯลฯ จะทำให้คนหมดบาปหมดทุกข์ได้แล้ว พวกเต่า ปู ปลา หรือหอยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็จะหมดบาปหมดทุกข์ไปด้วยน้ำนั้นเหมือนกัน" หรือ "ถ้าหากว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ด้วยการบวงสรวง บูชาอ้อนวอนเอาๆ แล้ว ในโลกนี้ก็จะไม่มีใครมีความทุกข์เลย เพราะว่า ใครๆต่างก็บูชาอ้อนวอนเป็น"
โดยเหตุที่ ยังมีคนที่มีความทุกข์ทั้งที่ได้กราบไหว้บูชาหรือทำพิธีรีตองต่างๆอยู่ จึงถือว่าไม่เป็นหนทางที่จะเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจะต้องพิจารณาโดยละเอียดลอให้รู้ ให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร แล้วปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆให้ถูกต้อง
พุทธศาสนาไม่ประสงค์คาดคะเน หรือทำอย่างที่เรียกว่าเผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ เราจะทำไปตรงๆตามที่มองเห็นด้วยปัญญาของตัวเอง โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นๆ แม้จะมีคนอื่นๆมาบอกให้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเชื่อเขาทันที เราจะต้องฟังและพิจารณาจนเห็นจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แล้วจึงจะเชื่อ และพยายามทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง
ศาสนาเหมือนกับของหลายเหลี่ยม ดูเหมือนหนึ่งมันก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ดูอีกเหลี่ยมหนึ่งมันก็เป็นไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วแต่ว่าบุคคลนั้นจะถือหลักการคิดในแนวไหนก็จะเห็นศาสนาเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันได้ แม้พุทธศาสนาก็ตกอยู่ในลักษณะเช่นนี้
คนเราย่อมเชื่อความคิดเห็นของตัวเอง เพราะฉะนั้น ความจริง หรือสัจจะสำหรับคนหนึ่งๆนั้น มันอยู่ตรงที่ว่าเขาเข้าใจ และมองเห็นเท่าไรเท่านั้นเเอง สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนเราเข้าถึงปัญหาหนึ่งๆ ได้ตื้นลึกกว่ากัน หรือ ด้วยลักษณะที่ต่างกัน และด้วยสติปัญญาที่ต่างกัน สิ่งใดที่อยู่เหนือสติปัญญาความรู้ความเข้าใจของตน หรือตนยังไม่เข้าใจ คนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความจริงของเขา ไม่เป็นความแท้ความจริงของเขาเลย
ความจริงของคนหนึ่งๆนั้น จะเดินคืบหน้าได้เสมอ ตามสติปัญญา ความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นทุกๆวัน จนกว่าจะถึงความจริงขั้นสุดท้าย คนเรามีการศึกษามาต่างกัน และมีหลักพิจารณาสำหรับจะเชื่อต่างๆกัน ฉะนั้น ถ้าจะ เอาสติปัญญาที่ต่างกันมาดูพุทธศาสนา ก็จะเกิดความคิดเห็นต่างกันไป ทั้งนี้เพราะว่าพุทธศาสนาก็มีอะไรๆครบทุกอย่างที่จะให้คนดู
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พุทธศาสนาคือวิธีปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากความทุกข์ โดยการทำให้รู้ความจริงว่า อะไรเป็นอะไร ตามที่พระพุทธเจ้าท่านทรงทำได้ก่อน และได้ทรงสอนไว้ แต่คัมภีร์ทางศาสนานั้นย่อมมีอะไรๆ เพิ่มขึ้นได้ ทุกโอกาสที่คนชั้นหลังเขาจะเพิ่มเติมลงไป พระไตรปิฏกของเราก็ตกอยู่ในฐานะอย่างเดียวกัน คนชั้นหลังๆเพิ่มเติมข้อความเข้าไปตามที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับยุคนั้นๆ เพื่อจะช่วยให้คนมีศรัทธามากขึ้นๆ หรือกลัวบาป รักบุญมากขึ้น ซึ่งอาจจะมากเกินขอบเขตจนกระทั่งเกิดการเมาบุญกันใหญ่
เราควรยึดกายวาจาบริสุทธิ์ให้เป็นที่ตั้งของจิตบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดปัญญารู้ว่าอะไรถูก แล้วประพฤติปฏิบัติไปตามนั้น อย่าได้ถือว่าถ้าเขาว่าเป็นพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นพุทธศาสนา เนื้องอกนั้นได้งอกมาแล้วนับตั้งแต่วันหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน และยังงอกเรื่อยๆมา กระจายไปทุกทิศทุกทางจนกระทั่งบัดนี้ เลยมีเนื้องอกก้อนโตๆอย่างมากมาย (พุทธศาสนาเนื้องอก เช่นพิธีรีตองต่างๆที่เพิ่งเกิดขึ้นและเกียวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเพียงเล็กๆน้อยๆ ก็พลอยถูกนับเข้าเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอย่างน่าสมเพช เช่น การจัดสำรับคาวหวาน ผลหมากรากไม้ เพื่อเซ่นวิญญาณของพระพุทธเจ้าอย่างที่เรียกว่าถวายข้าวพระ เป็นต้น มันเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ตามหลักของพุทธศาสนา แต่พุทธบริษัทบางพวกเข้าใจว่านี่เป็นพุทธศาสนา และได้สอนกันถือกัน อย่างเคร่งครัด การบวชนาคก็เกิดมีพิธีทำขวัญนาค เชื้อเชิญแขกมาเลี้ยงดูกันอย่างเมามายเอิกเกริก ทำพิธีทั้งที่วัดและที่บ้าน บวชไม่กี่วันก็สึกออกมา แล้วกลายเป็นคนเกลียดวัดยิ่งไปกว่าเดิมก็มี นี่ขอให้คิดดูเถิดว่า สิ่งไม่เคยมีในครั้งพุทธกาลก็ได้มีขึ้น เราหลงเรียกการทำขวัญนาค และการทำพิธีต่างๆตลอดถึงการฉลองอะไรๆเหล่านั้น ว่าเป็นพุทธศาสนาแล้วก็นิยมทำกันอย่างยิ่ง จนหมดเปลืองทรัพย์ของตนหรือของคนอื่นเท่าไรก็ไม่ว่า พุทธศาสนาใหม่ๆอย่างนี้เกิดมีมากมายแทบจะทั่วไปทุกแห่ง ธรรมะหรือของจริงที่เคยมีมาแต่ก่อนนั้น ถูกหุ้มห่อโดยพิธีรีตองจนมิด เกิดมุ่งหมายผิดเป็นอย่างอื่นไป
พวกเราเองจะไปอ้างเอา "พุทธศาสนาเนื้องอก" มาถือว่าเป็นพุทธศาสนาไม่ได้ หรือ คนในศาสนาอื่นจะมาชี้ก้อนเนื้องอกเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่อย่างน่าบัดสีอย่างน่าละอายว่าเป็นพุทธศาสนา ก็ไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่เป็นการยุติธรรมเพราะสิ่งนี้ไม่ใช้พุทธศาสนา แต่เป็น "เนื้องอก" พวกเราที่จะช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย หรือเพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองก็ตาม จะต้องรู้จักฉวยให้ถูกตัวแท้ของพุทธศาสนา ไม่ไปถูกชิ้นเนื้อร้ายเนื้องอกดังที่กล่าวมาแล้ว
แม้พุทธศาสนาตัวแท้ก็ยังมีหลายแง่หลายมุม ที่จะทำให้เกิดการจับฉวยเอาไม่ถูกความหมายที่แท้ของพระพุทธศาสนาก็ได้
เพราะมีกล่าวถึงบุญบาป ความซื่อตรง ดีชั่ว ความกตัญญุกตเวที ความสามัคคี ความเป็นเป็นคนที่เปิดเผยตัวเอง และอะไรต่างๆ อีกมากมาย ล้วนแต่มีอยู่ในพระไตรปิฏกทั้งนั้น แม้ชาวต่างประเทศก็มองดูในส่วนนี้อยู่มากหรือว่าชอบพุทธศาสนาเพราะเหตุนี้ก็มีอยู่มาก
พุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง สูงขึ้นไปเป็นสัจธรรม (Truth) คือ กล่าวถึงความจริงที่ลึกซึ้งเร้นลับนอกเหนือไปกว่าที่คนธรรมดาสามัญจะเห็นได้ ส่วนนี้ได้แก่ความรู้เรื่องความว่างเปล่าของสรรพสิ่งทั้งปวง (สุญญตา) เรื่องความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) ความไม่ใช้ตัวตน (อนัตตา) หรือเรื่องการเปิดเผยว่าทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร ความดับสนิทของทุกข์เป็นอย่างไร และวิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างไร ในฐานะเป็นความจริงอันเด็ดขาดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ (อริยสัจจ์) ซึ่งทุกคนควรจะต้องรู้ นี้เรียกว่าพุทธศาสนาในฐานะเป็นสัจธรรม
พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา (Religion) คือส่วนที่เป็นตัวระเบียบปฎิบัติ ซึ่งได้แก่ ศิล สมาธิ ปัญญา กระทั่งผลที่เกิดขึ้นคือความหลุดพ้น และปัญญาที่รู้เห็นความหลุดพ้น ว่าเมื่อใครปฎิบัติแล้วจะหลุดพ้นไปจากทุกข์ได้จริง นี้เรียกว่า พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นศาสนา
เรายังมี พุทธศาสนาในเหลี่ยมที่เป็นจิตวิทยา (Psychology) เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกภาคสุดท้าย กล่าวบรรยายถึงลักษณะจิตไว้กว้างขวางอย่างน่าอัศจรรย์ที่สุด เป็นที่งงงันและสนใจแก่นักศึกษาทางจิตแม้แห่งยุคปัจจุบัน เป็นความรู้ทางจิตวิทยาที่จะอวดได้ว่าแยบคาย หรือลึกลับกว่าความรู้ทางจิตวิทยาของโลกปัจจุบันไปเสียอีก
พุทธศาสนายังมีเหลี่ยมความรู้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปรัชญา (Philosophy) คือสิ่งที่ทดลองไม่ได้ ยังต้องอาศัยการคำนึงคำนวณไปตามหลักแห่งการใช้เหตุผลแห่งการคำนึงคำนวณระบอบหนึ่ง แต่ถ้าเห็นแจ้งประจักษ์ได้ด้วยตา หรือด้วยการพิสูจน์ ทดลองตามทางวัตถุ หรือแม้เห็นชัดด้วย "ตาใน" คือญาณจักษุก็ตาม เรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ (Science) ได้ ความรู้อันลึกซึ้ง เช่นเรื่องสุญญตาย่อมเป็นปรัชญาสำหรับผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรมไปพลางก่อน แต่จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ทันทีสำหรับผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว เช่น พระอรหันต์ เพราะท่านได้เห็นได้ประจักษ์ แล้วด้วยจิตใจของท่านเองไม่ต้องคำนึงคำนวณตามเหตุผล
หลักพระพุทธศาสนาบางประเภท ก็เป็นวิทยาศาสตร์ (Science) โดยส่วนเดียว เพราะพิสูจน์ได้ชัดแจ้งด้วยความรู้สึกภายในใจของผู้มีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอริยสัจจ์เป็นต้น ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาสนใจศึกษา ค้นคว้าแล้วจะมีเหตุผลแสดงอยู่ในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มืดมัวเป็นปรัชญาเหมือนอย่างบางเรื่อง
"ถ้าหากว่าจะมีศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิด หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (The Modern Scientific mind) แล้วศาสนานั้นก็คือ พระพุทธศาสนา นั่นเอง"
"ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาแห่งสากล ซึ่งล่วงพ้นจากความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า หรือสิ่งศักดิ์ทั้งหลาย โดยมีหลักการที่จะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความศรัทธาที่เกิดจากความสะสมประสบการร์ในทุกๆด้าน ทั้งในด้านธรรมชาติ และด้านจิตวิญญาณอย่างมีเหตุผล พุทธศาสนาเป็นคำตอบสำหรับหลักการนี้"
"ผมตกตะลึง และรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่พบว่า งานวิจัยของผมกลับกลายมาวางอยู่บนพื้นฐานทางความคิดที่ดูจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์เอาเสียเลย เมื่อมันถูกนำไปเชื่อมสัมพันธ์กับพุทธรรรมคำสอนในศาสนาพุทธ"
"มนุษย์ได้ฝึกฝนความเฉลียวฉลาดรอบรู้ของตนเพื่อเอาชนะธรรมชาติภายนอกด้วยวิทยาศาสตร์ และประยุกต์วิทยา (Science and Technology) บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ควรแสวงหาแสงสว่าง หรือสติปัญญาที่สูงลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่จะช่วยให้มนุษย์ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ได้
สำหรับบุคคลผู้บูชาวัฒนธรรม ก็จะพบว่ามีคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาหลายข้อที่ตรงกับหลักวัฒนธรรมสากล และมีคำสอนอีกมากที่เป็นวัฒนธรรมของชาวพุทธโดยฌฉพาะ ซึ่งดีกว่าสูงกว่าวัฒนธรรมสากลอย่างมากมาย
แม้พุทธศาสนาส่วนที่เป็นตรรกวิทยา (Logic) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่โยกโคลงที่สุด ก็มีมากด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในพวกพระอภิธรรมบางคัมภีร์ เช่นคัมภีร์กถาวัตถุเป็นต้นฯ
แต่อย่างไรก็ตามอยากจะขอยืนยันว่า พุทธศาสนาเหลี่ยมซึ่งชาวพุทธจะต้องสนใจที่สุด นั้นคือ เหลี่ยมที่เป็นศาสนา ซึ่งหมายถึงวิธีปฏิบัติโดยรวบรัด เพื่อให้รู้ความจริงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอะไร จนถอนความยึดถือหลงใหลต่างๆออกมาเสียจากสิ่งทั้งปวงได้ การกระทำเช่นนี้เรียกว่า เราเข้าถึงตัวพระพุทธศาสนา ในฐานะเป็นพุทธศาสนา มีผลดียิ่งกว่าไปกว่าที่จะถือเป็นเพียงศิลธรรมขั้นพื้นฐาน และสัจธรรมอันเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งอย่างเดียวโดยไม่ปฏิบัติอะไร และเป็นผลดีกว่าที่จะถือเป็นปรัชญา ที่มีไว้คิดไว้นึกไว้เถียงกันอย่างสนุกๆ แล้วไม่ละกิเลสอะไรได้ หรือดีกว่าที่จะถือเป็นเพียงวัฒนธรรมสำหรับการประพฤติที่ดีงามน่าเลื่อมใสในด้านสังคมแต่อย่างเดียว
อย่างน้อยที่สุด เราทั้งหลายควรถือ พุทธศาสนาในฐานะเป็นศิลปะ (Art) ซึ่งในที่นี้หมายถึงศิลปะแห่งการครองชีวิต คือเป็นการกระทำที่แยบคายสุขุม ในการที่จะมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ให้น่าดูชมน่าเลื่อมใส น่าบูชาเป็นที่จับอกจับใจแก่คนทั้งหลาย จนคนอื่นพอใจทำตามเราด้วยความสมัครใจไม่ต้องแค่นเข็นกัน เราจะมี ความงดงามในเบื้องต้น ด้วยศิลบริสุทธิ์ มีความงดงามในท่ามกลาง ด้วยการมีจิตใจสงบเย็น เหมาะสมที่จะทำงานในด้านจิต มี ความงดงามในเบื้องปลาย ด้วยความสมบูรณ์แห่งปัญญา คือรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงว่าอะไรเป็นอะไร จนไม่มีความทุกข์ เกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงนั้น
เมื่อใครมีชีวิตอยู่ด้วยความงาม 3 ประการ เช่นนี้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศิลปะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสูงสุด ชาวตะวันตกหันมาสนใจพุทธศาสนา ในฐานะเป็นศิลปะแห่งชีวิตโดยนัยนี้เป็นอันมาก และกล่าวขวัญกันมากกว่าแง่อื่นๆ
การที่เราเข้าถึงตัวแท้ของพระพุทธศาสนา จนถึงกับนำมาใช้เป็นแบบแห่งการครองชีวิตนั้น มันทำให้เกิด ความบันเทิงรื่นเริงตามทางธรรมะ ไม่เหงาหงอยไม่น่าเบื่อหน่าย หรือหวาดกลัวดังที่เกรงกันอยู่ว่า ถ้าละกิเลสเสียแล้วชีวิตนี้จะแห้งแล้งไม่มีรสชาติอะไรเลย หรือถ้าปราศจากตัณหาต่างๆ โดยสิ้นเชิงแล้วคนเราจะทำอะไรไม่ได้ หรือไม่คิดทำอะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่โดยที่แท้จริงแล้ว ผู้ดำรงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง ตามศิลปะแห่งการครองชีวิตของพระพุทธเจ้านั้น คือผู้มีชัยชนะอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงที่เข้ามาแวดล้อมตน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บุคคลสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม ย่อมจะเข้ามาในฐานะผู้แพ้ ไม่อาจจะทำให้เกิดความมืดมัว สกปรก เร่าร้อนให้แก่ผู้นั้นได้ อากัปกิริยาที่เป็นฝ่ายชนะอารมณ์ทั้งปวงนี้ ย่อมเป็นที่บันเทิงเริงรื่นอย่างแท้จริง และนี่คือข้อที่ควรถือเป็นศิลปะในพุทธศาสนา
ธรรมะในพระพุทธศาสนา จะให้ความเพลิดเพลินแก่จิตใจที่ต้องการธรรมะ นับได้ว่าเป็นอาหารจำเป็นอย่างหนึ่งเหมือนกัน คนที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสยังต้องการอาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แสวงหากันไปตามวิสัยปุถูชนนั้นก็ถูกแล้ว แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ลึก และไม่ต้องการอาหารอย่างนั้น สิ่งนี้คือวิญญาณซึ่งเป็นอิสระหรือบริสุทธิ์ ต้องการความบันเทิงเริงรื่น คืออาหารทางธรรมะ นับตั้งแต่ความยินดีปรีดาที่รู้สึกว่าตนได้ทำอะไรอย่างถูกต้อง เป็นที่พอใจของผู้รู้ทั้งหลาย มีความสงบระงับในใจชนิดดที่กิเลสมารบกวนไม่ได้ มีความเห็นแจ่มแจ้งรู้เท่าทันสิ่งทั่งปวงว่าอะไรเป็นอะไร ไม่ทะเยอทะยานในสิ่งใด มีอาการเหมือนกับนั่งลงได้ ไม่ต้องวิ่งงไปวิ่งมาเหมือนคนทั้งหลาย ชนิดที่ท่านให้คำเปรียบไว้ว่า "กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ"
"กลางคืนอัดควัน" นั่น หมายถึงการนอนไม่หลับกระสับกระส่ายมือก่ายหน้าผาก คิดจะแสวงหาอย่างนั้นอย่างนี้คิดจะกระทำเพื่อให้ได้เงิน ได้ลาภหรือสิ่งต่างๆที่ตนปราถนา อันเป็นควันกลุ้มอยู่ในใจ เพราะมันยังมือค่ำ ลุกไปไหนไม่สะดวก ต้องทนอดนอนอัดควันอยู่ ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น ก็ออกวิ่งไปตามความต้องการของ "ควัน" ที่อัดไว้เมื่อคืน นี่เรียกว่า "กลางวันเป็นไฟ" เป็นอาการของจิตใจที่ไม่ได้รับความสงบ ไม่ได้รับอาหารทางธรรมเป็นความกระหาย ไปตามอำนาจของกิเลส และตัณหา "กลางคืนอัดควัน" ร้อนรุ่มอยู่แล้วตลอดคืน "กลางวันยังเป็นไฟ" คือทั้งร้อนทั้งไหม้อะไรไปในตัวเสร็จตลอดทั้งวันแล้วจะหาความสงบเยือกเย็นอย่างไรได้ ถ้าคนเราต้อง "กลางวันอัดควัน กลางวันเป็นไฟ" ไปจนตลอดชีวิต ถึงตายแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เขาเกิดมาทนทุกข์ทรมานจนตลอดชีวิต คือนับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเน่าเข้าโลกไปทีเดียว โดยไม่มีสติปัญญาที่จะระงับดับไฟ ดับควันนั้นเสียเลย บุคคลชนิดนี้จะต้องอาศัยสติปัญญาของบุคคลประเภทพระพุทธเจ้า สำหรับช่วยแก้ไขให้เบาบางลงตามส่วน เมื่อเขาได้เข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้นเท่าไรควันหรือไฟก็จะลดน้อยลงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมีลักษณะหลายเหลี่ยมหลายมุมเหมือนกับภูเขาลูกเดียวมองจากทิศต่างๆกัน ก็เห็นรูปต่างๆกัน ได้ประโยขน์ต่างๆกัน แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร แม้พระพุทธศาสนา จะมีมูลมาจากความกลัว ก็ไม่ใช้ความกลัวที่โง่เขลา ของคนป่าเถื่อน จนถึงกับนั่งไหว้รูปเคารพหรือไหว้สิ่งที่มีปรากฏแปลกๆ แต่เป็นความกลัวชนิดที่สูงด้วยสติปัญญา คือกลัวว่าจะไม่ได้รอดพ้นไปจากการบีบคั้นของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย หรือความทุกข์ทั้งหลายที่เรามองเห็นๆ กันอยู่
พุทธศาสนาตัวแท้ ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คัมภีร์ ไม่ใช่เสียงบอก เล่าตามพระไตรปิฎก หรือตัวพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งไม่ใช้ตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ตัวแท้ต้องเป็น ตัวการปฎิบัติด้วยกายวาจาใจชนิดที่จะทำลายกิเลสให้ร่อยหรอ หรือหมดสิ้นไปในที่สุด ไม่จำเป็นต้องเนื่องด้วยหนังสือ ด้วยตำรา ไม่ต้องอาศัยพิธีรีตอง หรือสิ่งภายนอก เช่นผีสางเทวดา แต่ต้องเนื่องด้วยกาย วาจา ใจ โดยตรง คือจะต้องบากบั่นกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง สามารถทำอะไรให้ถูกต้องได้ด้วยตนเอง ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนอวสาน นี่แหละคือตัวแท้ของพระพุทธศาสนา ในส่วนที่เราจะต้องเข้าถึงให้จงได้ อย่าได้ไปหลงยึดเอาเนื้องอกที่หุ้มห่อพระพุทธศาสนามาถือว่าเป็นตัวพระพุทธศาสนากันเลย
พุทธศาสนิก แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามศาสนาของผู้รู้ ที่ว่ารู้นั้น หมายถึงรู้อะไร? ก็คือรู้สิ่งทั้งปวงที่เป็นจริงนั่นเอง จึงกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาก็คือ ศาสนาที่ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เป็นศาสนาเกี่ยวกับความรู้จริง เราจึงต้องปฏิบัติจรเรารู้ได้เอง เมื่อรู้ถึงที่สุด แล้วไม่ต้องกลัว กิเลสตัณหาต่างๆ จะถูกความรู้นั้นทำลายให้สิ้นไป ความไม่รู้ (อวิชชา) ก็จะดับไปทันที ในเมื่อความรู้ได้เกิดขึ้นมาก ฉะนั้นข้อปฏิบัติต่างๆจึงมีไว้เพื่อให้วิชชาเกิด
สรุปความว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร เมื่อเรารู้ว่า อะไรเป็นอะไรถูกต้องจริงๆแล้วไม่ต้องมีใครมาสอนเรา หรือมาแนะนำเรา เราก็ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆถูกต้องได้ด้วยตนเอง แล้วกิเลสก็จะหมดไปเอก เราเป็นอริยบุคคลขั้นใดขั้นหนึ่งขึ้นมาทันที หรือที่ชอบเรียกกันว่า มรรคผลนิพพาน นี้ได้ด้วยตนเอง เพระาการที่เรามีความรู้อะไรเป็นอะไรโดยถูกต้องถึงที่สุดอย่างแท้จริงเท่านั้น รัตนตรัย หมายถึง สิ่งลำค่า 3 ประการ หลักที่เคารพบูชาสูงสุดของพุทธศานิกชน 3 อย่าง
พระพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองและสอนผู้อื่นให้รู้ตาม พระธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลักความประพฤติ พระสงฆ์ หมายถึง หมู่สาวกผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
บทความจากหนังสือ
❝ความประพฤติชอบทางกายและวาจา , การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย , การรักษาปกติตามระเบียบวินัย , ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว , การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน
1. เว้นจากการปลงชีวิต , เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน (ปาณาติปาตา เวรมณี )
2. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ , เว้นจากการลัก โกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน(อทินนาทานา เวรมณี )
3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม , เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน (กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี )
4. เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง (มุสาวาทา เวรมณี)
5. เว้นจากน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท , เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ (สุราเมรยมชชปมาทฏฐานา เวรมณี )
ศีล 5 ข้อนี้ ในบาลีชั้นเดิมส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท 5 ข้อปฏิบัติในการฝึกตนบ้าง ธรรม 5 บ้าง เมื่อปฎิบัติได้ตามนี้ ก็เชื่อว่าเป็นผู้มีศีล คือ เป็นเบื้องต้นที่จัดว่าเป็นผู้มีศีล คำว่า เบญจศีล ที่มาในพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอปทาน และพุทธวงส์ ต่อมาในสมัยหลัง มีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นว่าเป็น นิจศีล ศีลที่คฤหัสถ์ ควรรักษาเป็นประจำบ้าง ว่าเป็น มนุษยธรรม (ธรรมของมนุษย์ หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์)
บทความจากหนังสือ
❝เบญจธรรม, ปัญจธรรม หรือ ธรรมห้า หมายถึง ข้อพึงปฏิบัติห้าประการตามคำสอนในพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติเจริญก้าวหน้า ปลอดเวร ปลอดภัย เพิ่มพูนความดีแก่ผู้ทำ
เบญจธรรมเป็นข้อพึงปฏิบัติห้าประการ คู่กับ เบญจศีล อันเป็นข้อไม่พึงปฏิบัติห้าประการ เบญจธรรมมี 5 ประการ ได้แก่
1. เมตตากรุณา คือความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น
2. คือการประกอบสัมมาชีพ
3. กามสังวร คือการสำรวมในกาม
4. สัจจะคือการพูดความจริง
5. สติสัมปชัญญะ คือความระลึกได้และความรู้ตัว
สิ่งที่ทำให้มีโชคดี ธรรมอันนำมาซี่งความสุขความเจริญ เรียกเต็มว่า อุดมมงคล คือ มงคลอันสูงสุด
" เอตาทิสานิ กตฺวาน สพฺพตฺถมปราชิตา สพฺพตฺถ โสตฺถึ คจฺฉนฺติ ตนฺเตสํ มงคลมุตฺตมนติ "
แปลว่า “ เทวะ มนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดิ์ในที่ทั้งปวง นี้คือ อุดมมงคลของเทวะ มนุษย์เหล่านั้น ”
บทความจากหนังสือ
❝วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร
สูตรนี้ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาละมะนั้นเป็นชาวเกสปุตตะนิคม ในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก 10 ข้อ
ธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่
1. อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
2. ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป
3. อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา
ไตรลักษณ์ แปลว่า "ลักษณะ 3 อย่าง" หมายถึง สิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ 3 อย่าง
หลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
2. สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
4. มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ
1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ
7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ
ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้
1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ
2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่
ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
ปหานะ - สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
ภาวนา - มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา
กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ) ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ
ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12 ดังนี้
สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า นี่คือทุกข์ นี่คือเหตุแห่งทุกข์ นี่คือความดับทุกข์ นี่คือทางแห่งความดับทุกข์
กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า ทุกข์ควรรู้ เหตุแห่งทุกข์ควรละ ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
ธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เช่น
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส
และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี
การเทศนาปฏิจจสมุปบาท ดังแสดงไปแล้วข้างต้น เรียกว่า อนุโลมเทศนา หากแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น จากผลไปหาเหตุปัจจัย เช่น ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา
1. อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
2. ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป
3. อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา
มิตรดีหรือมิตรแท้
ความมีกัลยามิตร คือ มีผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่คบหาและบุคคลผู้แวดล้อมที่ดี , ความรู้จักเลือกเสวนาบุคคล หรือเข้าร่วมหมู่กับท่านผู้ทรงคุณทรงปัญญามีความสามารถ ซึ่งจะช่วยแวดล้อมสนับสนุน ชักจูง ชี้ช่องทาง เป็นแบบอย่าง ตลอดจนเป็นเครื่องอุดหนุนเกื้อกูลแก่กัน ให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี ในการศึกษาอบรม การครองชีวิต การประกอบกิจการ และธรรมปฏิบัติ , สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดี ข้อนี้เป็นองค์ประกอบภายนอก
" ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น "
" ความมีกัลยาณมิตร เท่ากับพรหมจรรย์ (การครองชีวิตประเสริฐ) ทั้งหมดทีเดียว เพราะว่า ผู้มีกัลยาณมิตรพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มากซึ่งอารย อัฎางคิกมรรค "
" อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร เหล่าสัตว์ผู้มีชาติเป็นธรรมดา ก็พ้นจากชาติ ผู้มีชราเป็นธรรมดา ก็พ้นจากมรณะ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสเป็นธรรมดาก็พ้นจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส "
" เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายนอกอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มากสำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะเหมือนความมีกัลยาณมิตร , ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น "
"ความมีกัลยาณมิตร ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ , เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม " ฯลฯ
กัลยาณมิตรธรรม 7 องค์คุณของกัลยาณมิตร , คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คุณสมบัติของมิตรดีหรือมิตรแท้ คือ ท่านที่คบหรือเข้าหาแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดความดีงามและความเจริญ ในที่นี้มุ่งเอามิตรประเภทครูหรือพี่เลี้ยงเป็นสำคัญ
น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษาไต่ถาม (ปิโย )
น่าเคารพ ในฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย (คร)
น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ ( ภาวนีโย)
รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี ( วตฺตา จ)
อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ชักถาม คำเสนอ และวิพากษ์วิจารณ์ อดทนฟังได้ไม่เบื่อไม่ฉุนเฉียว ( วจนกฺขโม)
แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ่งยิ่งขึ้นไป
ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย (โน จฏฺฐาเน นิโยชเย)
1.1 คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
1.2 ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
1.3 ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
1.4 คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์
คนดีแต่พูด วจีบรม มีลักษณะ 4 คือ
2.1 ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
2.2 ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
2.3 สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
2.4 เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง
คนหัวประจบ อนุปปิยภาณี มีลักษณะ 4 คือ
3.1 จะทำชั่วก็เออออ
3.2 จะทำดีก็เออออ
3.3 ต่อหน้าสรรเสริญ
3.4 ลับหลังนินทา
คนชวนฉิบหาย อปายสหาย มีลักษณะ 4 คือ
4.1 คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
4.2 คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
4.3 คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
4.4 คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน
บทความจากหนังสือ
❝กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต
1. รูปขันธ์ กองรูป , ส่วนที่เป็นรูป , ร่างกาย , พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย , ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด , สิ่งที่เป็นร่างพร้อมทั้งคุณและอาการ
2. เวทนาขันธ์ กองเวทนา , ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ , ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
3. สัญญาขันธ์ กองสัญญา , ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้นๆได้ , ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่นว่า ขาว เขียว ดำ แดง เป็นต้น
4. สังขารขันธ์ กองสังขาร , ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง , สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ , คุณสมบัติต่างๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต
5. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ , ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ , ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ได้แก่ วิญญาณ 6
ขันธ์ 5 นี้ ย่อมลงมาเป็น 2 คือ นาม และ รูป ; รูปขันธ์จัดเป็นรูป , 4 ขันธ์นอกจากเป็นนามอีกอย่างหนึ่ง จัดเข้าในปรมัตถธรรม 4 : วิญญาณขันธ์เป็นจิต , เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ เป็น เจตสิก , รูปขันธ์ เป็น รูป , ส่วน นิพพาน เป็นขันธ์วินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5
บทความจากหนังสือ
❝ที่ตั้งของสติ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง
เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช้สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา
ท่านจำแนกวิธีปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ
กำหนดลมหายใจ (อานาปานสติ)
กำหนดรู้ทันอิริยาบถ (อิริยาบถ)
สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง (สัมปชัญญะ)
พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ (ปฏิกูลมนสิการ)
พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ (ธาตุมนสิการ)
พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆอันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมของร่างกายของผู้อื่นเช่นใด ของตนจักเป็นเช่นนั้น (นวสีวถิกา)
เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช้สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
3.การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช้สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่าน หรือ เป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
4.การตั้งสติกำหนดพิจาณาธรรม (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)
เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช้สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือ มีสติอยู่พร้อมด้วยความรู้ชัดธรรมทั้งหลายได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจจ์ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ
บทความจากหนังสือ
❝โยนิโสมนสิการ ตือ การใช้ความคิดถูกวิธี
หมายถึง การทำในใจโดยแยบคาย มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสาย แยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบและโดยอุบายวิธี ให้เห็นสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ข้อนี้เป็น องค์ประกอบภายใน และเป็นฝ่ายปัญญา
“ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอารยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ”
“ เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอื่นแม้สักอย่างเดียว ที่มีประโยชน์มาก สำหรับภิกษุผู้เป็นเสขะเหมือนโยนิโสมนสิการ ภิกษุผู้มีโยนิโสมนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และย่อมยังกุศลให้เกิดขึ้น ”
“ เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ”
“ เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกขจัดเสียได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ”
“ โยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ , เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม ” ฯลฯ
เสียงจากผู้อื่น การกระตุ้นหรือชักจูงจากภายนอก คือ การรับฟังคำแนะนำสั่งสอน เล่าเรียน หาความรู้ สนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะการสดับสัทธรรมจากท่านผู้เป็นกัลยาณมิตร (ปรโตโฆสะ)
การใช้ความคิดถูกวิธี ความรู้จักคิด คิดเป็น คือ ทำในใจโดยแยบคายมองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณา รู้จักสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆออก ให้เห็นตามสภาวะและตามสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย (โยนิโสมนสิการ)
ข้อธรรม 2 อย่างนี้ ได้แก่ ธรรมหมวดที่ 1 และ 2 นั่นเอง แปลอย่างปัจจุบันว่า “ องค์ประกอบของการศึกษา ” หรือ “ บุพภาคของการศึกษา ” โดยเฉพาะข้อที่ 1 ในที่นี้ใช้คำกว้างๆแต่ธรรมที่ต้องการเน้น ก็คือ กัลยาณมิตตตา
เสวนาสัตบุรุษ , คบหาท่านผู้ทรงธรรมทรงปัญญาเป็นกัลยาณมิตร (สัปปุริสสังเสวะ)
สดับสัทธรรม , ใส่ใจเล่าเรียนฟังอ่านหาความรู้ให้ได้ธรรมที่แท้ ( สัทธัมมัสสวนะ)
ทำใจโดยแยบคาย , รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผลโดยถูกวิธี ( โยนิโสมนสิการ)
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม , ปฎิบัติธรรมถูกหลัก ให้ธรรมย่อมคล้อยแก่ธรรมใหญ่ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน , ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม ( ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ )
ธรรมหมวดนี้ ในบาลีที่มา เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญาวุฒิ (ปัญญาวุฒิธรรม) คือ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งปัญญา อย่างไรก็ดี ในการเล่าเรียนธรรมในประเทศไทยที่สืบกันมา ได้รู้จักธรรมหมวดนี้ในชื่อสั้นๆว่า วุฒิ 4 และอธิบายความหมายโดยมุ่งให้คนทั่วไปเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างๆ จึงจะแสดงความหมายแบบง่ายๆ ไว้ด้วยดังนี้
คบหาสัตบุรุษ , เสวนาท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณความดี มีความประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ (สัปปุริสสังเสวะ) ฟังสัทธรรม , ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน ( สัทธัมมัสสวนะ) ทำในใจโดยแยบคาย , รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ( โยนิโสมนสิการ) ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม , นำสิ่งที่ได้เล่าเรียนและตริตรองเห็นแล้วไปใช้ปฎิบัติให้ถูกต้องตามหลัก สอดคล้องกับความมุ่งหมายของหลักการนั้นๆ ( ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ )
เสวนาสัตบุรุษ , คบหาท่านผู้ทรงธรรมทรงปัญญาเป็นกัลยาณมิตร (สัปปุริสสังเสวะ)
สดับสัทธรรม , ใส่ใจเล่าเรียนฟังอ่านหาความรู้ให้ได้ธรรมที่แท้ ( สัทธัมมัสสวนะ)
ทำใจโดยแยบคาย , รู้จักคิดพิจารณาหาเหตุผลโดยถูกวิธี ( โยนิโสมนสิการ)
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม , ปฎิบัติธรรมถูกหลัก ให้ธรรมย่อมคล้อยแก่ธรรมใหญ่ สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน , ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับธรรมข้ออื่นๆกลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด , ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม ( ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ )
โสตาปัตติยังคะ 4 หมวดนี้ ตรงกับหลักที่รียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม 4 หรือ วุฒิธรรม 4 ธรรม 4 ประการนี้ มิใช่เพียงเป็นโสตาปัตติยังคะ ที่จะให้บรรลุโสดาปัตติผล คือ เป็นพระโสดาบันเท่านั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม 4 ประการนี้ เมื่อเจริญ ปฏิบัติ ทำให้มาก ย่อมเป็นไปเพื่อการบรรลุอริยผลได้ทุกขั้นจนถึงอรหัตตผล
บทความจากหนังสือ
❝ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้
ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง (สติ)
ความเฟ้นธรรม , ความสอดส่องสืบค้นธรรม (ธัมมวิจยะ)
ความเพียร (วิริยะ)
ความอิ่มใจ (ปิติ)
ความผ่อนคลายสงบเย็นกายใจ (ปัสสัทธิ)
ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วแน่ในอารมณ์ (สมาธิ)
ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง (อุเบกขา)
แต่ละข้อเรียกเต็ม มี สัมโพชฌงค์ ต่อท้ายเป็น สติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น
บทความจากหนังสือ
❝ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ , ธรรมประจำใจอันประเสริฐ , หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ ,
เมตตา ความรัก ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า
กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือนร้อนของปวงสัตว์
มุทิตา ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรก้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือ มีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมควรกับความรับผิดชอบของตน
พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม , ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม , ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม , หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่
พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อัปปมัญญา 4 เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่มีจำกัดขอบเขต พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุ เป็นต้น
อนึ่งในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่างโดยเฉพาะสมบัติ และวิบัติ ของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้
ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
เมตตา = (มีน้ำใจ) เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนสัตว์ทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
มุทิตา = โมทนายินต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่าสัตว์หลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง
เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฎ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือนร้อน)
ลักษณะ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฎ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฎ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปด้วยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฎ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตน ว่าสัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร
เมตตา : สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
กรุณา : สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
มุทิตา : สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
อุเบกขา : สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)
เมตตา : ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = เกิดเสน่หา
กรุณา : ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือ ความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
มุทิตา : ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่นดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือ ความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
อุเบกขา : ข้าศึกใกล้ = อัญญารุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ
เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกป้องรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู
พึงทราบด้วยว่า ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือ ความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้ การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบ ของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น
บทความจากหนังสือ
❝คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย
1. ความพอใจ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปราถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป (ฉันทะ)
2. ความเพียร ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้นด้วยความพยายาม แข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ท้อถอย (วิริยะ)
3. ความคิดมุ่งไป ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใผ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่สิ่งที่ทำ (จิตตะ)
4. ความไตร่ตรอง หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหยอนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น (Plan-Do-Check-Action) (วิมังสา)
บทความจากหนังสือ
❝บุคคลประเภทต่างๆ ที่เราต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางสังคม ดุจทิศที่อยู่รอบตัว
ก. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้
1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
2. ช่วยทำการงานของท่าน
3. ดำรงวงศ์สกุล
4. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ม่าน
ข. บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
1. ห้ามปรามจากความชั่ว
2. ให้ตั้งอยู่ในความดี
3. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
4. หาคู่ครองที่สมควรให้
5. มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
ก. ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้
1. ลุกต้อนรับ
2. เข้าไปหา
3. ใฝ่ใจเรียน
4. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
5. เรียนศิลปะวิทยาโดยเคารพ
ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
1. ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
2. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
3. สอนศิลปะวิทยาให้สิ้นเชิง
4. ยกย่องให้ปรากฎในหมู่คณะ
5. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ
ก. สามีพึงบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
1. ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
2. ไม่ดูหมิ่น
3. ไม่นอกใจ
4. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
5. หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
1. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
2. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
3. ไม่นอกใจ
4. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
5. ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
1. เผื่อแผ่แบ่งปัน
2. พูดจามีน้ำใจ
3. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
4. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
5. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน
ข. มิตรสหายย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
1. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
2. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
3. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
4. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
5. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นทิศเบื้องล่าง ดังนี้
1. จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
2. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
3. จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
4. ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
5. ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นาย ดังนี้
1. เริ่มการงานก่อนนาย
2. เลิกงานหลังนาย
3. ถือเอาแต่ของที่นายให้
4. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
5. นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่
ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้
1. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
2. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
3. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
4. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
5. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4
ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้
1. ห้ามปรามจากความชั่ว
2. ให้ตั้งอยู่ในความดี
3. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
4. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
5. ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
6. บอกทางสวรรค์ คือ ทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้
บทความจากหนังสือ
❝คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด
ทาน การให้ การเสียสละ
ศีล การรักษากาย วาจาให้อยู่ในหลักความประพฤติที่เป็นแบบแผนแห่งภาวะของตน , ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย
เนกขัมมะ การออกบวช , ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม
ปัญญา ความรอบรู้ , ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงและรู้จักแก้ไขปฏิบัติจัดการต่างๆ
วิริยะ ความเพียร , ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่
ขันติ ความอดทน , ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติหรือการปฏิบัติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบ ไม่ลุอำนาจกิเลส
สัจจะ ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ
อธิฐาน ความตั้งมั่น , การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่
เมตตา ความรักใคร่ , ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ
อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง , ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม และดำรงอยู่ในธรรม ไม่เอนเอียงหรือหวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใดๆ
ทศบารมีนี้ เรียงตามที่ถือว่าได้บำเพ็ญในทศชาติ (จัดแบบไทย) ดังนี้
1. พระเตมีย์ -- เนกขัมมะ (ข้อที่ 3)
2. พระมหาชนก -- วิริยะ (5)
3. พระสุวรรณสาม -- เมตตา (9)
4. พระเนมิราช -- อธิฐาน (8)
5. พระมโหสถ -- ปัญญา (4)
6. พระภูริทัตต์ -- ศีล (2)
7. พระจันทกุมาร -- ขัติ (6)
8. พระนารทะ - อุเบกขา (10)
9. พระวิธุระ - สัจจะ (7)
10. พระเวสสันดร - ทาน (1)
บารมีนั้น ท่านกล่าวว่าจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ต้องครบ 3 ขั้น คือ
1. บารมี ระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย
2. อุปบารมี ระดับรองหรือจวนจะสูงสุด เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การเสียสละอวัยวะเป็นทาน
3. ปรมัตถบารมี ระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
บทความจากหนังสือ
❝ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เกิดสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี , ธรรมของผู้ดี
1. ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ ( ธัมมัญญุตา) คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการหรือบรรลุจุดหมายอันนั้นๆ เป็นต้น
2. ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือรู้จักผล (อัตถัญญุตา) คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ หรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น
3. ความรู้จักตน (อัตตัญญุตา) คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสมและรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป
4. ความรู้จักประมาณ ( มัตตัญญุตา) คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น
5. ความรู้จักกาล ( กาลัญญุตา) คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ควรหรือจะต้องใช้ในการประกอบกิจ ทำหน้าที่การงาน หรือ ปฏิบัติการต่างๆ เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลาให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น
6. ความรู้จักบริษัท (ปริสัญญุตา) คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น
7. ความรู้จักบุคคล ( ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา) คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่คบ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น
ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ 9 แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ (ท่านแสดงไว้เฉพาะข้อหลัก 5 ข้อ คือ ข้อ 1 , 2 , 4 , 5 , 6) จึงทรงยังธรรมจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี
1. ธรรมของสัตบุรุษ , ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ , คุณสมบัติของคนดี ( สัปปุริสธรรม 8) ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ ( สทฺธมฺมสมนฺนาคโต)
ก. มีศรัทธา
ข. มีหิริ
ค. มีโอตตัปปะ
ง. เป็นพหูสูต
จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว
ฉ. มีสติมั่นคง
ช. มีปัญญา
2. ภักดีสัตบุรษ (สปฺปุริสภตฺตี ) คือ คบหาสมณพราหมณ์
ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย
3. คิดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสจินฺตี) คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
4. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสมนฺตี ) คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียดตนและผู้อื่น
5. พูดอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสวาโจ) คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต 4
6. ทำอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสกมฺมนฺโต) คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต 3 มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทิฏฺฐี ) คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
7. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ (สปฺปุริสทานํ เทติ ) คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่นให้โดยอื้อเฟื้อทั้งแก่ของที่ตัวให้ ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น
บางที่เรียกว่า สปฺปุริสธรรม 7 เพราะนับเฉพาะสัทธรรม 7 ในข้อ 1
บทความจากหนังสือ
❝จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
คำว่า "นิพพาน" มาจากภาษาบาลี Nibbāna निब्बान ประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียก กิเลสตัณหา กล่าวโดยสรุป นิพพานคือการไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ในทางมหายานได้กล่าวไว้ใน ธรฺม-ธาตุ-ปรกฺฤตย-อวตาร-สูตฺร (入法界體性經) โดยอธิบายว่า ธรรมธาตุของนิพพานนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิด ไม่ดับ ไม่สกปรก ไม่บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อน ไม่แปรปรวน ไม่มีผู้ใดดับได้ จึงไม่มีผู้ใดเกิด
พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานว่า ปทมจฺจุตฺ มจฺจนฺตํ อสงฺขตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตามเหสโย "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ตรัสถึงสภาวะธรรมชาติหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่จุติ พ้นจากขันธ์ 5 ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใดๆ เลย หาสภาวะอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือพระนิพพาน"
คัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะกล่าวถึงนิพพาน 2 ประเภท คือ
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุยังมีอุปาทิเหลือ ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 กล่าวคือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 กล่าวคือดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่อีก
สิ่งที่กั้นไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม
1. ความพอใจในกาม ความต้องการกามคุณ (กามฉันทะ)
2. ความคิดร้าย ความขัดเคืองแค้นใจ (พยาบาท)
3. ความหดหู่ และเซื่องซึม (ถีนมิทธะ)
4. ความฟุ้งซ่าน และร้อนใจ ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล (อุทธัจจกุกกุจจะ)
5. ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา)
บทความจากหนังสือ
❝ธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจกรรมของตน
1. สัทธา ความเชื่อ
2. วิริยะ ความเพียร
3. สติ ความระลึกได้
4. สมาธิ ความตั้งจิตมั่น
5. ปัญญา ความรู้ทั่วชัด
หมวดธรรมนี้เรียกอย่างหนึ่งว่า พละ 5 ที่เรียกว่า พละ เพราะความหมายว่า เป็นพลัง ทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งความไร้ศรัทธาเป็นต้น แต่ละอย่างจะเข้าครอบงำไม่ได้ ส่วนที่เรียกว่า อินทรีย์ เพราะความหมายว่า เป็นใหญ่ในการกระทำหน้าที่แต่ละอย่างๆ ของตน คือ เป็นเจ้าการ ในการครอบงำเสียซึ่งความไร้ศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้นซ่าน และความหลงตามลำดับ
บทความจากหนังสือ
❝ธรรมสำหรับการครองเรือน
1. สัจจะ ความจริง , ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง
2. ทมะ การฝึกฝน , การข่มใจ ฝึกนิสัย ปรับตัว , รู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่อง ปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา
3. ขันติ ความอดทน , ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย
4. จาคะ ความเสียสละ , สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้างพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการของผู้อื่น พร้อมที่จะร่วมมือ ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว
ในธรรมหมวดนี้ ทมะ ท่านมุ่งเอาด้านปัญญา ขันติ ท่านเน้นแง่วิริยะ
บทความจากหนังสือ
❝ยึดเหนี่ยวใจบุคคล และประสานหมู่ชนไว้ใน สามัคคี
1. ทาน การให้ คือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แบ่งปัน ช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของ ตลอดถึงให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน
2. ปิยวาจา หรือ เปยยวัชชะ วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจ หรือวาจาซาบซึ่งใจ คือกล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี ให้เกิดไมตรีและความรักใคร่นับถือ ตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้นิยมยินดี
3. อัตถจริยา การประพฤติประโยชน์ คือขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม
4. สมานัตตตา ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะบุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี
บทความจากหนังสือ
❝ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้
คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ , ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค
1. สติปัฏฐาน 4
2. สัมมัปปธาน 4
3. อิทธิบาท 4
4. อินทรีย์ 5
5. พละ 5
6. โพชฌงค์ 7
7. มรรคมีองค์ 8
โพธิปักขิยธรรม นี้ตามที่ทั่วไปในพระไตรปิฎก ตรัสไว้เพียงเป็นคำรวมๆ โดยไม่ได้ระบุชื่อองค์ธรรม นอกจากในสังยุตตนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก ที่มีพุทธพจน์ตรัสระบุไว้ว่า ได้แก่ อินทรีย์ 5 และในคัมภีร์วิภงค์แห่งพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งไขความว่า โพธิปักขิยธรรม ได้แก่ โพชฌงค์ 7
ธรรมชุดนี้ เมื่อตรัสระบุชื่อทั้งชุดในพระสูตร ทรงเรียกว่าเป็น อภิญญาเทสิตธรรม เช่นคือ เป็นอภิญญาเทสิตธรรม 37 และในพระอภิธรรม ท่านแสดงไว้ว่าธรรม 37 ประการนี้ เป็น สัทธรรม
นอกจากนี้ ธรรม 37 ประการชุดนี้ยังได้ชื่อว่าเป็น สันติบท คือ ธรรมที่เป็นไปเพื่อการบรรลุสันติ (รวมทั้งเป็น อมตบท และ นิพพานบท เป็นต้น) และเป็น เสรีธรรม หรือ ธรรมเสรี
ในพระวินัยปิฎก ท่านแสดงธรรม 37 ประการนี้ไว้เป็นคำจำกัดความของคำว่า มรรคภาวนา ต่อมา ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา รวมถึงสุทธิมัคค์ จึงระบุและแจกแจงไว้ชัดเจนว่า โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ได้แก่ ธรรมเหล่านี้
บทความจากหนังสือ
❝การเรียนดี
ฟัง คิด ถาม เขียน หรือ สุ จิ ปุ ลิ อธิบายได้สองแบบๆ ดังนี้
คือ ฟังเข้าสมอง คิดในสมอง เอาสัญญาในสมอง มาร่วมคิด ถามก็ตามสมองคิดยังไม่ได้ทำเลยก็มีเขียน คือจดในกระดาษกันลืม หรือจดในสมอง คือจำได้
"สุ" คือ ฟัง คิด ถาม เขียน แบบกระทรวงศึกษาสอนไว้ ทั้งสี่นั้นแหละ เช่น อ่านธรรมะ อ่านตำรา ฟังบัณฑิตสอน อ่านที่จดไว้ ท่องไว้ ถามโน่น ถามนี่...ทั้งหมดเกิดขึ้นในระดับ "สมอง"
"จิ" คือ เมื่อมี "สุ" เป็นขันธ์ห้ากระทบเข้ามาแล้ว เราก็ใช้โยนิโสมนสิการทำให้จิตใจสงบ (ทำในใจหรือบางท่าน แปลว่า ทำใจให้แยบคายนั่นเอง) น้อมระลึกเข้าไปดูภายในใจ ใช้สติ ใช้ปัญญา...ปฎิบัติธรรมนะทำได้ทุกเสี้ยววินาที ไม่ต้องรอไปนั่งสมาธิ เกินจงกรม..ที่ตรงไหนก็น้อมระลึกดูจิตของเราได้...ที่ไหนก็ปฎิบัติได้...จิ คือ ตามดูรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้ทัน คิดตามว่า มันก่อตัวอย่างไร...เราเคยหลงไปตามความคิดไหม...รู้ตัวไหมว่าหลงไปตามความคิด...จิ นั้น จะว่าไปแล้ว คือ คิดได้ ระลึกได้ ก็คือมี "สติ" นั่นเอง... มีสัมปะชัญยะ ตามสติมาอย่างติดๆ ใช้แยกแยะรู้ว่าจิตเป็นกุศล/อกุศล/ไม่กุศลและไม่อกุศล...
"ปุ" คือ เมื่อมีปัญหา มีข้อข้องขึ้นมา หรือเมื่อรับรู่ แยกแยะได้ว่าจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเป็นธรรมแบบไหน (ธรรมมีสามแบบ คือ กุศล อกุศล และอัพยากฤต) ...เรา ก็จะหาทางทำให้จิตสงบ นิ่งโล่งว่าง... หาปัญญามาทำให้ข้อขัดข้องนั้น กระจ่างรู้เท่าทัน รู้ตามความเป็นจริง...ใช้การเรียนรู้ธรรมะ แบบที่เรียกกันว่า "ทุกข์ไม่มาปัญญาไม่เกิด" เอาคนรอบข้างเป็นโจทย์ฝึกจิตของเรา
"ลิ" คือ เมื่อฝึก จิตดูจิตไปเรื่อยๆ กำลังสติ กำลังปัญญา จะมากขึ้นเรื่อยๆ บางท่านจะร้องอ๋อ เข้าใจ แล้วอะไรที่สงสัยก็เบาไปหายไป จิตจะโล่งโปร่งสบาย...นี่แหละ เป็น "ลิ" ละ... แต่เป็นลิขิตในแบบนามธรรมเขียนไว้ที่จิตที่ใจ เขียนแบบถาวรลบไม่ได้... ขโมยไม่ได้... และสะสมเป็นสติปัญญาใช้ข้ามภพข้ามชาติได้...หมั่นฝึกสร้างสติทำความเข้าใจ แยกจิตแยกขันธ์ห้านะ
พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่เทศน์ (วัดหินหมากแป้ง) ท่านเคยสอนไว้ในทำนองที่ว่าสติยิ่งมากยิ่งดี สมาธิมากไปก็หลง ปัสสนามากไปก็ฟุ้งซ่าน...อุปมาสติเป็นน้ำในตุ่ม เต็มเมื่อไรเอาไปแลก มรรค แลก ผล มีพระนิพพานเป็นที่ไปนะ
บทความจากหนังสือ
❝สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้
อายตนะภายใน 6
อายตนะภายนอก 6
สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน (อายตนะภายใน 6)
1. จักษุ ตา (จักขุ)
2. หู (โสตะ)
3. จมูก (ฆานะ)
4. ลิ้น (ชิวหา)
5. กาย (กาย)
6. ใจ (มโน)
ทั้ง 6 นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ 6 เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่า เช่น จักษุเป็นเจ้าการในการเห็น เป็นต้น
สิ่งที่เชื่อมต่อกันให้เกิดความรู้ แดนต่อความรู้ฝ่ายภายนอก (อายตนะภายนอก 6)
1. รูป สิ่งที่เห็น หรือ วัณณะ คือ สี (รูปะ)
2. เสียง (สัททะ)
3. กลิ่น (คันธะ)
4. รส (รสะ)
5. สัมผัสทางกาย สิ่งที่ถูกต้องกาย (โผฎฐัพพะ)
6. อารมณ์ที่เกิดกับใจ สิ่งที่ใจนึกคิด (ธรรม หรือ ธรรมารมณ์)
ทั้ง 6 นี้ เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ 6 คือเป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง
บทความจากหนังสือ
❝
บรรพชิต (นักบวช)สัมมาอาชีวะ หมายถึง การใช้ชีวิตด้วยการบริโภคปัจจัยสี่ อย่างมักน้อย เท่าที่จำเป็น ถ้าเป็นนักบวชที่อยู่ด้วยการขอ ต้องรักษาปัจจัยสี่ของทายกอย่างดี เพื่อให้คุ้มค่าต่อผู้ให้ ไม่เบียดเบียน และไม่เสพสิ่งที่นอกเหนือจากปัจจัยสี่โดยไม่จำเป็นเช่นกามคุณ 5 เพราะแม้ไม่เสพกามคุณ มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สัมมาอาชีวะของผู้บวชคือไม่เสพบริโภคเกินจำเป็น เช่น ดูการละเล่น แต่งตัว เป็นต้น
(ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ โปรดติดตามใน Version 2)
แนะนำเราได้ที่
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร....
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อวัดสลัก สร้างในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมื่อทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และทรงสร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับและสร้างพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ประทับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล นั้น วัดสลักเป็นวัดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักเมื่อ พ.ศ. 2326 พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่ทำสังคายนาในปี พ.ศ. 2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ”
และใน พ.ศ. 2346 พระราชทานนามใหม่ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยาที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช
วัดมหาธาตุเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงพระบุพโพเจ้านายซึ่งดำรงพระเกียรติยศสูง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ของวัดเป็นที่สร้างเมรุพระราชทานเพลิงพระศพพระบรมวงศ์ชั้นสูง
ในปลาย พ.ศ. 2432 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งบาลีวิทยาลัยที่วัดมหาธาตุ เรียกว่ามหาธาตุวิทยาลัย และย้ายการบอกพระปริยัติธรรมมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ต่อมา ใน พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุ เรียกว่า สังฆิกเสนาสน์ราชวิทยาลัย เพื่อใช้ในงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
หลังจากนั้น จะทรงอุทิศถวายแก่มหาธาตุวิทยาลัย เพื่อเป็นที่เรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูง ซึ่งจะได้พระราชทานนามว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”
แต่อาคารหลังนี้มาสร้างเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดที่วัดบวรสถานสุทธาวาส
ใน พ.ศ. 2439 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในการบูรณะวัดมหาธาตุและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์”
Google Maps : add_location
องค์กรทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญองค์กรหนึ่งของประเทศไทย...
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญองค์กรหนึ่งของประเทศไทย ยุวพุทธิกะ มีความหมายว่า "ผู้เยาว์ที่นับถือในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า" ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดที่จะนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงเยาวชนและคนรุ่นใหม่ โดยได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากว่า 50 ปี
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2493 จากแรกเริ่มคือคณะยุวพุทธิกะซึ่งเกิดจากคนรุ่นใหม่ผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นที่จะศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประกอบด้วย
นายเสถียร โพธินันทะ,
นายบุญยง ว่องวานิช,
และนายสุพจน์ แสงสมบูรณ์
ท่านทั้ง 3 ได้จัดตั้ง "คณะยุวพุทธิกะ" ขึ้นเมื่อวันพุธ ที่ 15 มกราคม พ.ศ 2492 โดยมีความเห็นพ้องกันว่า จะต้องตั้งสมาคมเผยแผ่พระพุทธศาสนา สำหรับคนวัยเดียวกัน เพื่อจะได้ชักจูงคนหนุ่มสาวให้มาสนใจในพระพุทธศาสนา
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ เมื่อครั้งยังอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ทรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิญาณ ได้อนุญาตให้ใช้พระอุโบสถวัดกันมาตุยาราม เป็นที่ทำการเริ่มแรก
ระยะแรกได้จัดกิจกรรมปุจฉา-วิสัชนาธรรมในวันอาทิตย์ และมีอบรมปฏิบัติสมถวิปัสสนาภาวนา ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป และได้รับความชื่นชมจากผู้ใหญ่ในสมัยนั้น
กระทั่งต่อมาได้พัฒนาจนเกิดเป็นยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ได้ใช้อักษรย่อว่า "ย.พ.ส." โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา เผยแผ่ และปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน ตลอดจนผู้ที่สนใจอย่างสม่ำเสมอ ปัจจุบันที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
จดทะเบียนเป็นยุวพุทธิกสมาคมแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2493 ในเวลาต่อมาจึงมียุวพุทธิกสมาคมจังหวัดต่าง ๆ เกิดขึ้น
ยุวพุทธ บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่ประจำ มีการบริหารจัดการ อย่างเป็นระบบ
ยุวพุทธ เป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรต่าง ๆ เช่น บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2509
เป็นองค์กรสาธารณกุศล ที่มีศูนย์วิปัสสนากรรมฐานเปิดให้ผู้ประชาชนทั่วไปเข้าอบรม ปฏิบัติธรรม ทุกเดือนตลอดปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นเวลาร่วม 20 ปี
ยุวพุทธ มีหลักสูตรอบรมปฏิบัติธรรมหลากหลาย ทั้งหลักสูตรระยะสั้น 1 วัน , หลักสูตร 2 วัน , หลักสูตร 3 วัน ,หลักสูตร 8 วัน , หลักสูตร 15 วัน จนถึงหลักสูตร 1 เดือน และ หลักสูตร 3 เดือน เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเลือกเข้าอบรมปฏิบัติธรรมในโครงการต่าง ๆ ตาม ที่เวลาของตนจะอำนวย
Google Maps : add_location
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร...
ประวัติ วัดปรินายกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๑ ถนนปรินายก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๕๕ ตารางวา
ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๗ เมตร
อาณาเขต ทิศเหนือ จดคูบดินทร์นายก
ทิศใต้ จดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ทิศตะวันออก จดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทิศตะวันตก จดถนนปรินายก
วัดปรินายก เดิมชื่อ วัดพรหมสุรินทร์ ตามผู้สร้างคือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
เมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมสุรินทร์อยู่ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงขนามนามไว้ว่า วัดปรินายก และก็ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า
จนสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงทำนุบำรุงการก่อสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุต่างๆ ตลอดจนสร้างพระอุโบสถ และพระราชทานวิสุงคามสีมา ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๔๓ ในเนื้อที่ กว้าง ๑๔ วา ยาว ๑๘ วา
ขอขอบคุณหนังสือประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๑ ยังมีอีกนะค่ะ อนุโมทนาบุญ
Google Maps : add_location
สถานที่และบรรยากาศดีเหมาะสมไปทำวิปัสนาและทำกิจกรรมทางศาสนา...
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สำนักบรรณสารสนเทศ
Title: วัดอัมพวัน
Added Author(s): มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สำนักบรรณสารสนเทศ
Accessioned Date: 2014-09-10T03:46:14Z
Extent: 1 หน้า
Resource Type: book article; บทความในหนังสือ
Type: Text
File Format: application/pdf
Language: tha
Keyword(s): วัดอัมพวัน -- ประวัติ
Spatial Coverage: ไทย; นนทบุรี; tgn:1085613
Rights: ผลงานนี้เผยแพร่ภายใต้ สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 4.0 (CC BY-NC-ND 4.0)
Series: วัดโบราณสมัยอยุธยา : วัดอัมพวัน
Location: ODI, STOU
Digital Origin: reformatted digital
URI: http://hdl.handle.net/6625047444/682
Google Maps : add_location
พระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ สมัยอยุธยา...
วัดสังฆทาน ตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีนับเป็นวัดที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ต้องการแสวงหาความสงบสุขทางจิตใจ
พระครูสมุห์ไพรินทร์ สิริวัฑฒโน เจ้าอาวาสวัดสังฆทานกล่าวถึงประวัติว่า เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง มีเพียงพระพุทธรูปหลวงพ่อโตประดิษฐานอยู่ในศาลาไม้มุงสังกะสี สาเหตุที่ชื่อว่าวัดสังฆทาน เนื่องจากทุกปีชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นมักนิมนต์พระสงฆ์จากวัดข้างเคียงมาที่ศาลาเพื่อถวายสังฆทานเป็นกุศโลบายให้ทุกคนมาช่วยกันทำความสะอาดวัดปีละครั้ง
จากนั้นในปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ อดีตเจ้าอาวาส ธุดงค์ผ่านมาและเห็นว่ามีบรรยากาศเงียบสงบเหมาะสำหรับการภาวนา แต่ท่านคิดว่าตนเองยังมีบารมีไม่มากพอ จึงเดินทางไปปฏิบัติธรรมต่อที่เขาถ้ำหมี จังหวัดสุพรรณบุรี และถ้ำกะเปาะ จังหวัดชุมพร ประมาณ 6 ปีแล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดสังฆทาน
แม้ช่วงแรกการเดินทางเข้ามาที่วัดสังฆทานค่อนข้างยากลำบาก เพราะไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องนั่งเรือและเดินผ่านร่องสวน แต่ด้วยวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดของหลวงพ่อสนอง เช่น ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ไม่จับเงินทองและปฏิบัติตามแนวทางเนสัชชิก ถือการนั่งเป็นวัตร เว้นการนอน ทำให้ญาติโยมศรัทธาและเริ่มเข้ามาถือศีลปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงพ่อสนองมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านจึงเริ่มพัฒนาวัดเพื่อรองรับการปฏิบัติธรรมของญาติโยมเรื่อยมาจนปัจจุบันในช่วงเทศกาลมีผู้มาปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้นับพันคน
“คนที่มาวัดสังฆทานต้องเตรียมใจว่าไม่ได้มาสบาย กินอาหารมื้อเดียวปฏิบัติจริงจัง แต่หากเราตั้งใจดีแล้ว ความลำบากก็ไม่ใช่อุปสรรค เรามาลำบากแค่กาย แต่ใจเราสงบ ก็นับว่าคุ้มค่า”
สถานที่ทำวัตรเช้า – เย็น เดินจงกรม ยืนสมาธิ ส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ให้ความร่มรื่น
“หลวงพ่อสนองท่านเน้นการปลูกต้นไม้เพื่อให้ความร่มเย็น เพราะบรรยากาศเหล่านี้ส่งผลต่อการปฏิบัติ แค่เข้ามาเห็นต้นไม้ เห็นความร่มรื่นก็เย็นกายแล้ว เมื่อเย็นกาย ใจเราก็จะเย็นตาม ธรรมชาติทำให้ใจเราสงบดับความทุกข์ใจเราได้”
ทั้งนี้สิ่งที่คาดหวังจากการเปิดให้วัดเป็นที่ปฏิบัติธรรมคือ “อยากให้ญาติโยมรู้จักความสงบสุขทางจิตใจ เพราะทุกวันนี้สังคมภายนอกมีแต่ความโลภ โกรธ หลง มีแต่ความเร่าร้อน การแก่งแย่ง อาฆาตพยาบาท จึงอยากให้คนได้เข้าถึงธรรมะ เมื่อเรามีหลักธรรมะ รู้จักความเมตตา เราก็อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข”
พระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ สมัยอยุธยา...
วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวงฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่เคยสำคัญยิ่งมาในอดีตสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒(เจ้าสามพระยา)ทรงสร้างขึ้น และได้รับการปฏิสังขรณ์หลายครั้งในหลายสมัย แต่ได้กลายเป็นวัดร้าง เข้าใจว่านับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ รวมเวลาร่วงเลยมา ๒๐๐ กว่าปี ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่สภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังเหลืออยู่ได้ปรักหักพังไปมาก แต่ก็พอมีเค้าเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงศิลปะการก่อสร้างอันประณีตงดงามมโหฬารและระดับความสำคัญของพระอารามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
แนวคิดทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเกี่ยวกับการสร้างวัดมเหยงคณ์ ได้แตกออกเป็น ๒ แนวทางคือ
- ตามพงศาวดารเหนือได้บันทึกไว้ว่า พระนางกัลยาณี มเหสีของพระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๕๓) กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ ซึ่งแสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอโยธยาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย ๔๐ ปี
- ส่วนพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่าศักราช ๗๘๖ มะโรงศก (พ.ศ.๑๙๖๗) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า(เจ้าสามพระยา)กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ขณะที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติกล่าวว่าศักราช ๘๐๐ มะเมียศก (พ.ศ.๑๙๘๑) สมเด็จบรมราชาธิราชเจ้า (เจ้าสามพระยา) เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ มีการวิเคราะห์กันว่าวัดมเหยงคณ์นั้นถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งอโยธยา แต่ชำรุดทรุดโทรมเมื่อเวลาผ่านไปกว่า ๑๐๐ ปี ถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นว่าเป็นวัดเก่าแก่ จึงบูรณะและสร้างเพิ่มเติมให้ใหญ่โตจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้ว วั
ดมเหยงคณ์ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยกษัตริย์พระนามว่า พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ในปีฉลูเอกศก (สมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย พ.ศ.๒๒๕๒) วัดมเหยงคณ์ได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยกรุงศรีอยุธยา และคงรุ่งเรืองตลอดมาจนถึง สมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. ๒๓๑๐
ภายในวัดมเหยงคณ์ มีพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง ๒ ชั้นลดหลั่นกัน ขนาดพระอุโบสถกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๖ เมตร นับว่าเป็นพระอุโบสถที่ใหญ่ที่สุด ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังพระอุโบสถทางทิศตะวันตกพ้นเขตกำแพงแก้ว จะพบพระเจดีย์ฐานช้างล้อมซึ่งเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ตั้งอยู่บนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวด้านละ ๓๒ เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ ที่ฐานทักษิณมีรูปช้างปูนปั้นยืนประดับอยู่ตามซุ้มรอบฐานรวม ๘๐ เชือก องค์เจดีย์ประธานยอดเจดีย์หักตั้งแต่ใต้บัลลังก์ลงมา ฐานชั้นล่างของพระเจดีย์มีซุ้มพระพุทธรูปจตุรทิศยื่นออกมาเห็นชัดเจน
สถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ...
วัดพระธาตุศรีจอมทอง พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ พระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีขนาดโตประมาณ เมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีคล้ายดอกพิกุลแห้ง และยังเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีชวด ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร มีบริเวณที่ตั้งเป็นเนินดินสูง ประมาณ 10 เมตร เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า ดอยจอมทอง ตามประวัติสันนิษฐานว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 20 แต่จากลักษณะทางศิลปกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ปรากฏเป็นลักษณะของศิลปกรรม ในสมัยหลัง พุทธศตวรรษที่ 24 ซึ่งเป็นห้วงระยะเวลาของยุคฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่
ตำนานวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร และพระบรมธาตุเจ้าศรีจอมทอง ดอยจอมทอง หรือ ดอยศรีจอมทองนั้น ในสมัยพุทธกาลมีเมืองตั้งอยู่ใกล้ๆ กับดอยลูกนี้ ชื่อ เมืองอังครัฏฐะมีเจ้าผู้ครองเมืองนามว่า พระยาอังครัฎฐะ พระยาอังครัฎฐะเมื่อได้ทราบข่าวจากพ่อค้าที่มาจากอินเดียว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าได้บังเกิดในโลกแล้ว เวลานี้ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ในประเทศอินเดีย จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณแล้ว จึงเสด็จสู่เมืองอังครัฏฐะพร้อมด้วยภิกษุสาวกทางอากาศ ได้มารับอาหารบิณฑบาตจาก พระยาอังครัฏฐะ และทรงแสดงธรรมโปรดพร้อมทั้งได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า “เมื่อเรานิพพาน แล้วธาตุพระเศียรเบื้องขวา (พระทักษิณโมลี) ของเราจักมาประดิษฐานอยู่ ณ ที่ดอยจอมทองแห่งนี้ ” แล้วเสด็จกลับ พระยาอังครัฏฐะเมื่อได้ทราบจากคำพยากรณ์นั้นแล้ว จึงได้สร้างสถูปไว้บนยอดดอยจอมทอง ด้วยหวังว่าจะให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุตามที่ทรงพยากรณ์ไว้นั้น แล้วอยู่ครองราชย์จนสิ้นพระชมมายุ
กาลล่วงมาจนถึงพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไป ณ เมืองกุสินารา และเมื่อได้จัดการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วจึงได้แบ่งพระบรมธาตุเจ้า โดยพระมหากัสสัปปะเถระ ผู้เป็นพระสังฆเถระในที่นั้นได้ขอเอาซึ่ง พระทักษิณโมลีธาตุ (พระบรมธาตุพระเศียรเบื้องขวา ) จากพระเจ้ามัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราได้แล้ว จึงอธิษฐานขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จไปประดิษฐานอยู่ที่ยอดดอยจอมทอง ตามที่พระพุทธองค์ได้พยากรณ์ไว้ ต่อมากาลเวลาล่วงมาถึง พ.ศ. 218 พระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์อินเดียในสมัยนั้น ได้เสด็จไปสู่ดอยจอมทอง ได้สั่งขุดคูหาให้เป็นอุโมงค์ใต้พื้นดอยจอมทอง แล้วให้สร้างสถูปไว้ภายในคูหานั้นแล้ว เอาพระบรมธาตุเจ้าที่อยู่ในสถูป ที่พระยาอังครัฏฐะให้สร้างไว้บนยอดดอยนั้น เข้าไปไว้ในสถูปที่สร้างใหม่ในคูหาใต้พื้นดอยจอมทองแล้วรับสั่งให้เอาก้อนหินปิดปากถ้ำคูหาเอาไว้ แล้วทรงอธิษฐานว่า “ต่อไปข้างหน้า ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินและศรัทธาประชาชน มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ขอให้พระบรมธาตุเจ้าเสด็จออกมาปรากฏแก่ผู้ชนให้ได้กราบไว้สักการะบูชา ” แล้วจึงได้เสด็จกลับ
กาลกล่าวมาถึง พ.ศ. 1995 นายสร้อย นางเม็ง สองสามีภริยาบ้านอยู่ใกล้กับดอยจอมทองนั้น ได้สร้างวัดขึ้นบนยอดดอยจอมทองนั้น แล้วให้ชื่อว่า “ วัดศรีจอมทอง” การสร้างวัดยังไม่เสร็จดี นายสร้อย นางเม็ง ก็ได้ถึงแก่กรรมไป ต่อมาถึง พ.ศ. 2009 มีชายสองคน ชื่อ สิบเงินและสิบถัว ได้ช่วยกันบูรณะก่อสร้างวัดศรีจอมทองต่อมา (มีพระสารีบุตรเถระ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก)
กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2042 ในสมัยพระธัมมปัญโญเถระ เป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทอง ได้มีตาปะขาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ที่วัดนั้นเกิดนิมิตฝันว่า เทวดาได้มาบอกว่าใต้พื้นวิหารบนยอดดอยที่ตั้งของวัดนี้มีพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า และพระบรมธาตุนั้นจักเสด็จออกมาให้ฝูงชนได้กราบไหว้สักการะบูชาต่อไป ตาปะขาวจึงได้ไปเล่าความฝันนั้นให้แก่เจ้าอาวาสฟัง เจ้าอาวาสจึงได้ทำการอธิษฐานจิตว่า “ถ้ามีจริงดังความฝันนั้น ขอให้พระบรมธาตุจงได้เสด็จออกมา ในเมื่อข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่นี้เถิด” เมื่ออธิฐานแล้วในวันรุ่งขึ้นก็ได้พบพระบรมธาตุเจ้าอยู่ในรูพระเกศโมลีของพระพุทธรูป ซึ่งตั้งประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารนั้น จึงได้เก็บรักษากันไว้โดยเงียบ ๆ และรู้กันเพียงแค่เจ้าอาวาสและตาปะขาว
กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2058 สมัยนั้นพระมหาสีลปัญโญเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีจอมทอง มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระมหาพุทธญาโณ มาจากเมืองพุกามได้สั่งให้พระอานันทะ ผู้เป็นลูกศิษย์ไปสืบดูพระบรมธาตุที่วัดศรีจอมทอง ซึ่งบางทีอาจจะทราบระแคะระคายว่าที่วัดนั้นมีพระบรมธาตุ เมื่อพระอานันทะได้ไปถึงวัดศรีจอมทองแล้ว ได้ทำการสักการะบูชาอธิฐานจิตอยู่ ฝ่ายพระมหาสีลปัญโญ เจ้าอาวาสเมื่อได้เห็นอาการเช่นนั้นจึงนำเอาพระบรมธาตุ ซึ่งเก็บรักษากันต่อมานั้นออกมาแสดงให้พระอานันทะทราบ พระอานันทะจึงได้นำความไปทูลพระดิลกปนัดดา (พระเมืองแก้ว) ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ให้ทรงทราบ
ครั้งเมื่อ พ.ศ. 2060 พระรัตนราช (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อได้ทราบความที่ พระมหาพุทฺธญาโณว่า “พระบรมธาตุเจ้าได้เสด็จมาประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง ภายในอาณาเขตแว่นแคว้นของพระองค์เช่นนั้นแล้ว” ก็มีพระทัยยินดีปิติปราโมทย์เป็นกำลัง จึงรับคำสั่งแก่พระมหาพุทฺธาญาโณเถระว่า “ขอพระคุณเจ้าจงไปจัดการเรื่มปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างพระวิหารหลังหนึ่ง ให้เป็น 4 มุขเหมือนวิหารวัดชัยศรีภูมิ แล้วได้ก่อปราสาทหลังหนึ่งให้เหมือนปราสาทอันมีอยู่ในพระอุโบสถวัดมหาโพธิหลวง (วัดเจ็ดยอด) ไว้ภายในท่ามกลางพระวิหารนั้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจ้า ให้เป็นอัครสถานอันประเสริฐต่อไป” ดังนี้ แล้วทรงประทานเงินหมื่นหนึ่งเพื่อเป็นค่าอุปกรณ์ในการก่อสร้าง พระเถระเจ้ารับคำพร้อมด้วยปะขาวนักบุญ และนายช่างทั้งหลายไปสู่วัดพระธาตุศรีจอมทอง แล้วร่วมกับเจ้าอาวาสเริ่มการปลูกสร้างพระวิหารและปราสาท ในปีชวดอัฏฐศก พ.ศ. 2060 ตามแบบที่พระเมืองแก้ว เจ้าผู้คร้องนครสั่งนั้นทุกประการ
เมื่อการก่อสร้างพระวิหารและปราสาทสำเร็จบริบูรณ์แล้ว พระเถระจึงไปทูลถวายพระพรให้เจ้าผู้ครองนครทรงทราบ พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองนครมีใจยินดีมากนัก จึงรับสั่งให้สุวรรณช่างทองสร้างโกศทองคำน้ำหนักเพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาต ุและพร้อมด้วยเถรานุเถระ เสนาอำมาตย์ชาวบ้านชาวเมืองออกไปทำมหกรรมฉลองเป็นมหาปางใหญ่ แล้วเชิญพระบรมธาตุเจ้าเข้าไว้ในโกศทองคำตั้งไว้ภายในปราสาทนั้นแล้ว ทรงโปรดพระราชทานวัตถุไทยทานและเครื่องแห่ไว้กับพระบรมธาตุเจ้าเป็นอันมาก และถวายข้าคนไร่นาตามเขตป่า ที่ดิน ย่านน้ำ ไว้สำหรับให้ปฏิบัติรักษาทำนุบำรุงพระบรมธาตุให้เจริญถาวรสืบต่อไปตลอด 5000 พระวัสสา เหตุการณ์สำคัญของวัดพระธาตุศรีจอมทอง
พ.ศ. 1995 วัดถูกสร้างขึ้นบนยอดดอยจอมทอง มีชื่อว่า “ วัดศรีจอมทอง”
พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
พ.ศ. 2478 ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52
พ.ศ. 2506 ได้รับพระราชทานยกฐานะวัดขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
พ.ศ. 2524 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา
พ.ศ. 2538 เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ของกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ ตั้งอยู่ถนนเชียงใหม่ - ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 58 กิโลเมตร เป็นวัดสําคัญคู่เมืองจอมทองเป็นที่เคารพสักการะของชาวเหนือโดยทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีหอสรงน้ำพระธาตุจอมทอง อาคารพิพิธภัณฑ์ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม กุฏิสงฆ์ สำนักปฏิบัติธรรม วิปัสสนากรรมฐาน มีกุฏิสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติ ศาลาสอบอารมณ์กรรมฐาน โรงครัว ห้องน้ำ-ห้องสุขา
สิ่งสำคัญภายในวัด คือพระบรมธาตุเจ้าศรีจอมทอง ซึ่งถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ตั้งอยู่ภายในพระวิหาร วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีผู้ที่เกิดปีชวดนิยมมากราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล สังเกตได้จากบริเวณรอบๆ พระธาตุ จะมีตุ๊กตารูปหนูวางเรียงรายอยู่ นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังมีประเพณี “การแห่ไม้ค้ำโพธิ์” ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนาที่ถือว่าการเอาไม้มาค้ำโพธิ์เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา
จิตที่ฝึกดีแล้ว .. ย่อมนำความสุขมาให้...
เดิมศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติบ้านวังเมือง เป็นบ้านของคุณแม่ละม้าย วังเมือง มีบิดา-มารดาชื่อ นายมาลัย-นางเลื่อม วังเมือง แม่ละม้ายเคยบวชเป็นแม่ชีน้อย ที่วัดเหมืองประชารามและเมื่อสึกออกไป ได้แต่งงานและย้ายไปอยู่ที่ จ.ภูเก็ต มีลูกสาว 1 คน ลูกชายสี่คน จากนั้นได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯเพื่อไปอยู่กับพ่อแม่สามี ซึ่งมีอาชีพค้าขาย และได้เริ่มทำธุรกิจค้าขายรถยนต์โดยมีลูกๆช่วยทำกิจการ
พระอาจารย์สุรพจน์ สทฺธาธิโก ลูกชายคุณแม่ละม้าย ได้อุปสมบทกับพระอาจารย์ขาว ฐิตวณฺโณ วัดบุญศรีมุนีกรณ์ จ.กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 พรรษา ปฏิบัติธรรมแบบวัดมหาธาตุ ครั้งหนึ่ง ท่านไปอยู่ที่วัดน้ำตกคลองลาน ได้เรียนรู้การปฏิบัติ หลักธรรม และเกิดความปรารถนาที่จะรวบรวมธรรมะที่แตกเป็นหลายสายให้เป็นหนึ่งเดียว จึงได้ศึกษาจากพระไตรปิฎก ก็พบว่า ที่สุดแล้ว ต้องปฏิบัติตามแนวทางมหาสติปัฏฐานสี่ ทางสายเอก เส้นเดียวเท่านั้น คือ พิจารณาเห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกให้พินาศได้
ครั้นแล้วภายในจิต มีความปรารถนาต้องการพบปรมาจารย์ที่สอนมหาสติปัฏฐานสี่ และไม่นาน ก็ได้พบหลวงพ่อธมฺมธโร และอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านเป็นเวลา 3 ปี ณ วัดไทรงามธรรมธราราม จ.สุพรรณบุรี ภายหลังคุณแม่ละม้ายได้มาถือศีลปฏิบัติธรรม โดยมีพระลูกชายคอยดูแลการปฏิบัติเป็นเวลาประมาณ 1 พรรษา
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2537 พระอาจารย์ธมฺมทีโป เมื่ออายุ 29 ปี อุปสมบทอยู่ในความอุปถัมภ์ของหลวงพ่อธมฺมธโร(พระมหาเถระผู้ทรงธรรม) หลังจากนั้นได้ปฏิบัติธรรมร่วมกับพระอาจารย์สุรพจน์(พระพี่ชาย) คอยคุมการปฏิบัติ และแก้ไขสภาวธรรมที่ติดขัดอย่างใกล้ชิด ซึ่งปฏิบัติโดยการยกมือจับความรู้สึก จากนั้นกระแสเข้าสู่จิตภายใน ดูภายในจิตตลอดทุกอิริยาบถ จนรู้แจ้งในเส้นทางแห่งการพ้นทุกข์ และได้เขียนเส้นทางแห่งการหลุดพ้นตามแนวทางมหาสติปัฏฐานสี่ ทางสายเอก จากที่ท่านได้ปฏิบัติมาในเวลา 3 เดือน 7 วัน
หลังจากนั้นพระอาจารย์ธมฺมทีโป ได้ไปสอนพ่อแม่ พี่น้อง และญาติ จนออกพรรษา คุณแม่ละม้ายได้นิมนต์ไป ต.ท้ายเหมือง จ.พังงา ได้ขออนุญาตพระอาจารย์จิตร เจ้าคณะตำบล นิมนต์พระลูกชายอยู่จำพรรษาเพื่อสอนพ่อแม่ปฏิบัติธรรม ท่านก็อนุญาตและอนุโมทนาว่าดีแล้วๆ พระลูกชายได้สอนพ่อแม่ปฏิบัติธรรม
ต่อมาคุณสถาพร ซึ่งเป็นน้องชายของพ่อพระอาจารย์ และคุณอังกาบ พี่สาวของพระอาจารย์ธมฺมทีโป พร้อมกับครอบครัว ได้มาปฏิบัติธรรมจนกระทั่งลูกๆเกิดศรัทธา ได้บวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์จิตร วัดเหมืองประชาราม และพระอาจารย์ปลัดแปลก วัดปัตติการามเป็นอุปัชฌาย์ และขออนุญาตมาศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์พี่ชาย ณ บ้านวังเมือง ซึ่งทางญาติๆได้ร่วมกันสร้างที่พักไว้สำหรับปฏิบัติธรรมแด่พระภิกษุสามเณร
ภายหลัง กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งข้าราชการเข้าอบรม ซึ่งผลการปฏิบัติเป็นที่น่าพอใจของผู้ที่ได้รับการอบรม ทางกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความปรารถนาดี และความพร้อมของศูนย์ฯ เพื่อให้การเผยแผ่ธรรมเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว เป็นประโยชน์สุขแก่คนในสังคม และผู้สนใจในธรรม จะได้พบเส้นทางที่ถูกต้อง ทางกระทรวงจึงได้จัดตั้งให้เป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ กระทรวงศึกษาธิการ ภาคเอกชน แห่งแรกในประเทศไทย โดยทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544
จิต เป็นธรรมชาติที่เกิด-ดับ รับรู้อารมณ์สืบเนื่องไปทุกขณะ .. ทางช่องทางทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า วิญญาณ จิตดั้งเดิม.. ผ่องใส แต่เศร้าหมอง เมื่อออกไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ และถูกกิเลสที่จรมา คือ ความโลภ โกรธ หลง ครอบงำ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า " ธรรมทั้งปวง รวมลงที่จิต"
การที่เราเริ่มต้นดูจิต คุมใจไว้ ชื่อว่า คุมอารมณ์ทั้งหมด ทั้งความรู้สึกพอใจ -ไม่พอใจ ความคิดดี-ไม่ดี ฯลฯ เมื่อเรากลับมารู้สึกที่จิตเนืองๆ เห็นการเกิด-ดับภายใน จึงไม่หวั่นไหวไปในอารมณ์ทั้งปวง...
เมื่อบุคคลมี ราคะ มาก พระพุทธองค์ทรงสอนให้ พิจารณาซากศพ ช่วย
เมื่อบุคคลมี ความโกรธ มาก พระพุทธองค์ทรงสอนให้ แผ่เมตตา
เมื่อบุคคลมี ความคิด มาก พระพุทธองค์ทรงสอนให้ พิจารณาความไม่เที่ยง
เมื่อบุคคลมี ความสุข มาก พระพุทธองค์ทรงสอนให้ เห็นทุกข์
เมื่อมี ความยึดถือตัวตนอยู่ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ เห็นอนัตตา คือ ทุกสิ่งไม่ได้มีตัวตน เป็นเพียงเหตุ-ปัจจัย เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
เมื่อพิจารณาดีแล้ว จิตย่อมตั้งมั่น มีปัญญาเห็นตามความเป็นจริง เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้น และทุกข์ที่ดับไป ชื่อว่า .. ดำเนินอยู่บนทางสายกลาง เรารักษาจิต รู้สึกไปเนืองๆ ไม่ยินดี ไม่เพลิดเพลินหลงใหล คลายความติดใจในสิ่งทั้งหลาย .. จิตจึงเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวง นี่เป็นเป้าหมายว่า ทำไมเราต้องดูจิต
จิตที่ฝึกดีแล้ว ..ย่อมนำความสุขมาให้
1. การค้นพบจิต
หงายมือทั้ง 2 ข้าง วางบนหัวเข่า
สูดลมหายใจเข้าช้าๆ ลึกๆ ผ่อนลมหายใจออกเบาๆ ลงไปตรงกลางทรวงอก บริเวณลิ้นปี่
นิ่ง.. และสังเกตสักครู่หนึ่ง จะมีความรู้สึกเหมือนชีพจรเต้นอยู่ ตึ้บๆ วึ้บๆ (เกิด-ดับ) บางครั้ง รู้สึกแน่นๆ เหมือนเหนื่อยๆ หรือ รู้สึกว่างๆ อยู่ภายใน ก็ให้สังเกตความรู้สึกไว้ตรงนี้ด้วยอาการที่ผ่อนคลาย
จากจิต..รู้สึกไปที่มือทั้ง 2 ข้าง ค่อยๆยกมือขึ้น ระยะห่างกันเล็กน้อย นิ่ง.. สังเกตความรู้สึก
จากนั้น ขยับมือเข้า - ออก ช้าๆ จะรู้สึกเหมือนแรงดึงดูด หรือลูกบอลพลังงาน
ให้ส่งกระแสซึ่งกันและกัน โดยฝ่ายรับยกมือค้างไว้ ฝ่ายส่งขยับมือเข้า-ออก ส่งกระแสเข้าไป แล้วให้ผู้รับบอกความรู้สึกของกระแสที่รับได้ จากนั้น ผู้รับเปลี่ยนเป็นผู้ส่ง แล้วให้บอกความรู้สึกซึ่งกันและกัน
เปลี่ยนรูปแบบการส่ง โดยฝ่ายรับ หงายฝ่ามือขึ้น ไม่ต้องเคลื่อนไหว ฝ่ายส่ง คว่ำมือลง ผู้ส่งน้อมกระแสจากจิตไปที่มือทั้ง 2 ข้าง ขยับมือขึ้น-ลงช้าๆ เพื่อสังเกตความรู้สึกที่ส่งไป แล้วบอกความรู้สึกซึ่งกันและกัน เช่น อุ่นๆ ร้อนๆ เหมือนแรงดึงดูด .. หนักๆ เวลาขยับมือเข้าใกล้ เบาๆ เมื่อยกมือออกห่าง ฯลฯ
ฝ่ายรับเปลี่ยนเป็นฝ่ายส่ง ให้ส่งกระแสซึ่งกันและกัน
การแผ่เมตตาอย่างสั้นๆ.. จากจิต นึกถึงใคร
แผ่เมตตาไป "ให้มีความสุข" การแผ่เมตตาไม่มีประมาณ
จากจิต น้อมบุญกุศลที่เราได้ทำแล้วในบัดนี้ แผ่ไปให้พ่อ-แม่ ครูบาอาจารย์ ญาติสนิท มิตรที่รัก แผ่เมตตาให้ในหลวงของพวกเรา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ บรรพบุรุษที่รักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ ผู้มีพระคุณทุกท่าน เทวดาทั้งสิบทิศ เจ้ากรรมนายเวร สัตว์นรก เปรต อสูรกาย สรรพสัตว์ทั้งหลายอันไม่มีประมาณ ให้ร่วมอนุโมทนาสาธุการ...
ท่านที่มีทุกข์ ขอให้พ้นทุกข์ สุขอยู่แล้ว ขอให้สุขยิ่งขึ้น...
จากจิต.. แผ่พลังความรัก ความปรารถนาดีออกไปรอบๆสถานที่ รอบๆจังหวัด รอบๆประเทศ ออกไปทั่วโลก จักรวาลอันกว้างใหญ่ แผ่ไปไม่มีประมาณ กว้างขวาง ไร้ขอบเขต " ให้ทุกท่านมีความสุข" นิ่งสักครู่หนึ่ง...
เมื่อต้องการออกจากการแผ่เมตตา อย่ารีบลืมตา ให้ตั้งจิตภายในว่า "กลับ" แล้วสูดลมหายใจเข้าช้าๆ ผ่อนความรู้สึกลงมาที่จิต ... ที่มือ... ลงมาที่ขา สัก 2-3 ครั้ง แล้วค่อยๆลืมตา
ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ทุกการเคลื่อนไหว ให้สังเกตความรู้สึกที่จิต เห็นการเกิด-ดับภายในไปตลอดเวลา ศีล-สมาธิ-ปัญญา จึงเดินไปพร้อมกัน
จิต..ดำเนินอยู่บนทางสายกลาง เห็นทุกข์ และดับทุกข์ได้ .. เพราะมีปัญญาเห็นความจริงว่า .. ทุกข์ที่เกิดขึ้น มีความดับไปเป็นธรรมดา จิตกับความคิดแยกจากกัน จิตจึงผ่องใส เป็นอิสระจากความคิดดีและไม่ดี ความคิดไม่ดีละทิ้งไป ความคิดดีนำมาใช้ แต่ไม่ยึดมั่นว่าความคิดทั้งหลายเป็นเรา เป็นของเรา จิตจึงหลุดพ้นจากความทุกข์ พบความสุขที่แท้จริงตลอดไป
อธิบายวงจรกระแสจิต
1. เมื่อบุคคลประสบกับรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้สูดดม รสที่ได้ลิ้ม สัมผัสทางกาย กระแสจะเข้าสู่จิต
2. ถ้าอารมณ์ทั้งหล่าย ไม่ได้ถูกกำหนดหยั่งรู้ที่จิต ก็จะถูกส่งไปเก็บที่สมอง(ที่เก็บอารมณ์ในอดีต) และจะส่งลงมาที่จิตอีกครั้ง หมุนเวียนอย่างนี้ เรียกว่าวัฏฏะ คือ การหมุนเวียนของอารมณ์
3. เมื่ออารมณ์ถูกเก็บหมักหมมมากเข้า อารมณ์หมักดอง(อาสวะ) ก็จะกลายเป็นเครื่องผูกรัดมัดจิต(สังโยชน์) ทำให้จิตหลุดพ้นไปไม่ได้
4. เราต้องกำหนดที่จิต อยู่ระหว่างกลางทรวงอกบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งเป็นจุดรวมของอารมณ์ทั้งหมด เห็นความเกิด-ดับไปทุกขณะจิต ชื่อว่า เจริญสติปัฏฐานสี่ อริยมรรคมีองค์แปด
5. เมื่อกำหนดที่จิตแล้ว ญาณจะเข้าไปฟอกจิต กระแสจะทะลุไปข้างหลัง ผ่านขึ้นไปฟอกที่สมองเล็ก ซึ่งอยู่บริเวณท้ายทอย และจะเข้าไปฟอกที่สมองใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จากนั้น ญาณจะขับกระแสออกมาระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นทางออกของกระแสวิญญาณ เรียกว่า มโนทวาร
6. เมื่อดูไปเนืองๆ ก็เริ่มเบื่อหน่าย คลายความติดใจในสิ่งทั้งหลาย ที่สุดจิตก็หลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่น
สถานที่ฝึกอบรมพระสังฆาธิการสนองงานคณะสงฆ์ และเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน...
วัดภัททันตะอาสภารามเป็นวัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ โดยคณะศิษย์ได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๓
ด้วยความศรัทธาอันมีต่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตจากประเทศพม่า เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้านวิปัสสนาธุระในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๖
จากการอาราธนาของคณะสงฆ์และรัฐบาลไทยในสมัยนั้น วัดภัททันตะอาสภารามได้รับการประกาศตั้งเป็นวัดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยมีวัตถุประสงค์ในการตั้งวัด ดังนี้
- เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน และประกาศเกียรติคุณของพระอาจารย์ใหญ่ให้เป็นที่ปรากฏ
- เพื่อเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐาน สานต่องานของพระอาจารย์ใหญ่ต่อไป
- เพื่อเป็นวัดปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามนัยคัมภีร์มหาสติปัฏฐาน ๔
- เพื่อให้บริการ และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแก่สาธุชนทั่วไป
- เพื่อเป็นที่ฝึกปฏิบัติ และพัฒนาบุคลากรด้านวิปัสสนากรรมฐาน
วัดนี้ได้รับการบริจาคที่ดินจำนวน ๒๗ ไร่ ๒ งาน จากนายสัตวแพทย์ จำเรือง พานเพียรศิลป์
อนึ่ง คุณเกษมศรี อนัมบุตร ได้ซื้อที่ดินซึ่งอยู่ติดกันเพิ่มอีกจำนวน ๒ ไร่ ๘๖ ตารางวา และสร้างเสาพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อแสดงถึงความมั่นคงของวัดในพระพุทธศาสนา
ปัจจุบัน วัดภัททันตะอาสภารามได้ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมพระสังฆาธิการสนองงานคณะสงฆ์ และเป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของบุคลากรจากหน่วยราชการต่างๆ ตลอดจนฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป
สามารถรองรับผู้เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้ประมาณ ๕๐๐ รูป/คน โดยมี พระครูภาวนาวราลังการ วิ. (สมศักดิ์ โสรโท) เป็นเจ้าอาวาส
บาลีไวยากรณ์ชั้นสูง , หลักของอังคุตตรนิกาย ...
ตั้งอยู่ที่ วัดท่ามะโอ เลขที่ ๓๗ ต.เวียงเหนือ อ.เมือง จ.ลำปาง ๕๒๐๐๐
เดิมเป็นวัดร้างสร้างเมื่อใดไม่ปรากฎ จนสมัยรัชกาลที่ ๕ มีชาวพม่าเป็นพ่อค้าไม้ในนครลำปางได้ทำการบูรณะวัดพร้อมซื้อที่ดินริมแม่น้ำวังสร้างเป็นวัดพม่าขึ้นมาโดยนิมนต์พระพม่ามาเป็นเจ้าอาวาส
วัดนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในฐานะเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะบาลีไวยากรณ์ชั้นสูง
ซึ่งหลวงพ่อวัดท่ามะโอ คือ ท่านธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต
เริ่มเปิดหลักสูตรการศึกษาบาลีใหญ่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖
ส่วนด้านการปฏิบัติเน้นวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่โดยแตกต่างจากสำนักวิปัสสนาอื่น ๆ คือ การนำหลักกายวิภาคศาสตร์มาประยุกต์เข้ากับการเดินจงกรมโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ อันส่งผลให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ตามหลักของอังคุตตรนิกายว่า ผู้ปฏิบัติต้องผ่อนคลายสรีระ และผ่อนคลายจิตใจ การผ่อนคลายสรีระคือ การไม่เกร็งกล้ามเนื้อในเวลาปฏิบัติ ส่วนการไม่เกร็งจิตใจคือไม่รู้สึกเครียดกับการปฏิบัติ
ปัจจุบันวัดท่ามะโอจัดอบรมกรรมฐานให้แก่ผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีพระคันธสาราภิวงศ์เป็นพระวิปัสสนาจารย์และมีครูผู้ช่วยคอยให้คำแนะนำ โดยทางสำนักให้การอบรมทั้งผู้ที่จองมาเป็นรายบุคคล และหมู่คณะ
- ๐๕๔ - ๒๒๘๘๑๙, ๐๘๑ - ๔๒๒๘๐๓๒/๐๘๖ - ๔๓๑๑๖๑๒, ๐๘๙-๙๙๗๑๙๘๙, ๐๘๔–๔๘๕๘๕๖๔
- E-mail : tamaoh24@gmail.com
- www.wattamaoh.org
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย...
พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดคอกควาย" เนื่องจากมีชาวทวายมาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และชาวทวายจะนำกระบือที่เลี้ยงไว้มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน หมู่บ้านบริเวณนั้นจึงได้ชื่อเรียกกันต่อมาว่า "บ้านคอกควาย"
ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะวัดคอกควายขึ้นเป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ต่อมารัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อจากวัดคอกกระบือเป็น "วัดยานนาวา" ด้านในมีพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าให้สักการะ
สำเภายานนาวา มีความยาววัดจากหงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี (ห้องขนาดเล็กท้ายเรือสำเภา) 21 วา 2 ศอก ความยาวส่วนล่างวัดที่พื้นดิน 18 วา 1 ศอกเศษ ความกว้างตอนกลางลำเรือ 4 วา 3 ศอก ความสูงตอนกลางลำเรือ 2 วา 3 ศอก
นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์องค์ใหญ่และเล็กอยู่ในลำสำเภารวม 2 องค์ ที่ห้องบาหลีมีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหาชาลีประดิษฐานอยู่ อันเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง ที่พระเวสสันดรโน้มน้าวใจพระโอรสธิดาให้อุทิศตนร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศล เสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน
วัดยานนาวา เป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 1648 ถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีที่ดินตั้งวัด เนื้อที่ 23 ไร่ 2 ตารางวา
- พระอุโบสถ สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่1 ก่ออิฐถือปูน เครื่องบนเป็นไม้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้เขียนภาพจิตรกรรมด้านหลังบานประตูในพระอุโบสถขึ้น คือรูปกระทงใหญ่ ตามแบบที่ทำในพระราชพิธีลอยพระประทีป และโถยาคูตามแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทในรัชสมัยของพระองค์ พระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร ป.ธ.3) เป็นเจ้าอาวาส หน้าบัน ทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจกสีเป็นรูปเทพพนม ท่ามกลางลายก้านขดรูปสัตว์ต่าง ๆ เสาพาไลย่อมุมไม้สิบสอง รองรับหลังคาชั้นลดด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร บัวหัวเสาเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง ประดับกระจกสี ในสมัยของพระองค์ ภายในมีพระพุทธรูปปูนปั้น 4 องค์ เป็นพระประธาน 1 องค์ ปางสมาธิ 1 องค์ และปางมารวิชัย 1 องค์
- พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 8 นิ้ว สูง 4 ศอก 10 นิ้ว
- สำเภาเจดีย์ สร้างในรัชกาลที่ 3 มูลเหตุการสร้าง เพราะทรงพยากรณ์ว่าเรือสำเภาจะสูญไป จึงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นโดยสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพระเจดีย์ 2 องค์ แทนที่เสากระโดงเรือ องค์ใหญ่ย่อมุมไม้ 25 ส่วนองค์เล็กมีฐานย่อมุมไม้ 16 ลักษณะคล้ายพระเจดีย์วัดพระเชตุพน และมีรูปพระเวสสันดรกับรูปกัณหาชาลีหล่อประดิษฐานไว้ที่ห้องบาหลี มีศิลาจารึกภาษาไทย 1 แผ่น ภาษาจีน 1 แผ่น
- พระบรมราชานุสาวรีย์ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับยืนหน้าพระสำเภาพระเจดีย์
- อาคารมหาเจษฏาบดินทร์ เป็นอาคารอเนกประสงค์ วางรูปแบบเป็นอาคารที่ใช้สอยพื้นที่ประโยชน์ในตัวอาคารร่วมกัน เช่น ศาลาบำเพ็ญกุศล ศาลาการเปรียญและหอประชุม ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประดับยอดปราสาท 5 ยอด หลังคามุงกระเบื้องกามู 3 สี
- หอพระไตรปิฎก เป็นอาคาร 3 ชั้น มีสัณฐานเป็นอาคารทรงไทยประดับยอดปราสาท 3 ยอด ใช้เก็บรวบรวมตู้พระไตรปิฎก
- พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว ๓ ปาง อยู่หลังซุ้มประตูวัดบริเวณระหว่างอาคารมหาเจษฎาบดินทร์ กับหอพระไตรปิฎก
พระอารามหลวง. คณะผู้จัดทำ พิสิฐ เจริญสุข ... [และคนอื่นๆ] กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2551.
รายนามผู้สนับสนุนทุน และส่งเสริมความรู้เพือจัดทำเว๊ปไซด์นี้ ซึ่งถือว่าเป็น คณะผู้จัดทำ
ครูอุปัชฌาย์ ของ พระอุปวิกาโส วัดบรมนิวาส กทม.
พระเทพสิทธาจารย์ วิ. ( ทอง สิริมงฺคโล ) วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
พระราชสุทธิมุนี วิ. ( ป.ธ. 9 ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.
พระครูสมุห์จันดีโคตปิโน (จันดี) วัดใหม่ทองเสน กทม.
หลวงพ่อสำราญ ( หลวงพ่อกล้วย ) วัดป่าอุทยาน จ.ขอนแก่น
พระมหานงค์ (ป.ธ. 9) วัดยานนาวา กทม.
แก้วขวัญ วัชโรทัย และครอบครัว
วรเดช ปัญจรงคะ
อรวรรณ ปัญจรงคะ
วีระศักดิ์ ปัญจรงคะ
วันวิสาข์ ปัญจรงคะ
กานต์พิชชา แซ่อึ้ง
ธัญพิสิษฐ์ อิทธิภูมิทักษา
ลูกค้าประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ของนาย วรเดช ปัญจรงคะ
ลูกค้าประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ของนางสาว วันวิสาข์ ปัญจรงคะ
ลูกค้าประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ของเครือนำทอง 667
ที่ปรึกษาทางการเงิน และการประกันภัยของ www.easyinsurance4u.com ทุกท่าน
ที่ปรึกษาทางการเงิน และการประกันภัยของ นำทอง 667 บริษัท เอ.ไอ.เอ จำกัด
ที่ปรึกษาทางการเงิน และการประกันภัยของ Thailandwealth
ครอบครัวรามโกมุท
ครอบครัวศรีเพ็ญ
ครอบครัวโชตะมังสะ
ครอบครัวจงวานิช
ครอบครัวโซดะ
ครอบครัวจามรมาน
วิรัช ไชยบุราณนนท์ และครอบครัว
ครอบครัวภูบุญคง และครอบครัวกนกพัฒนางกูร
ครอบครัวเกียรติกมลวงศ์
ปานโสฬส อิสริยเมธีกุล และครอบครัว
สุชาติ ศุภสวัสดิ์กุล และครอบครัว
ดร. เอกสรรเสริญ กีรติวานิชย์ และครอบครัว
ดร. ธวัชชัย วงศ์ศรีมงคล และครอบครัว
ลักขณา ตะเวทิกุล และครอบครัว
ไพศาล ปันทวังกูร และครอบครัว
ประไพพร เดชตีรยากร และครอบครัว
สุนันทา แจ้งกิติชัย และครอบครัว
กรรณิการ์ หนุนภักดี และครอบครัว
เบญจมาศ อินทรสุขศรี และครอบครัว
ไพฑูรย์ เสถียรปกิกรณ์ และครอบครัว
จีระพันธ์ อุลปาทร และครอบครัว
ชาติชาย เลิศสัจจานันท์ และครอบครัว
วีระพงศ์ สุขุมาลจันทร์ และครอบครัว
จิตติ รัชไชยบุญ และครอบครัว
รัชนีย์ ลิขิตประคอง และครอบครัว
รัมภา ดิษาภิรมย์ และครอบครัว
วิกรานต์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา และครอบครัว
ชัยยศ คุณานุสนธิ และครอบครัว
พฤทธ์ สมพรประสิทธิ์ และครอบครัว
ปราโมทย์ เหรียญเจริญสุข และครอบครัว
มัณฑนา จุลเสน และครอบครัว
อโณทัย คุณาพรไพโรจน์ และครอบครัว
เกษมชัย นิธิวรรณากุล และครอบครัว
ดำรงพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และครอบครัว
สุกิจ เจริญสุข และครอบครัว
พิมพ์ญานี มงคลลิขิตกุล และครอบครัว
พล.ต.ท. ธวัชชัย จุลสุคนธ์ และครอบครัว
นรต. รุ่น 20
ภรณี ศรีกาฬสินธุ์ และครอบครัว
สุมณฑา บุญปลูก และครอบครัว
จีรนันทน์ ทิวบุญเลื้ยง และครอบครัว
กมลวรรณ ถาวรกูล และครอบครัว
กุลิสรา ตะละภัฎ และครอบครัว
วนัชพร กลั่นเมฆ และครอบครัว
อรพิมพ์ พลาวุธ และครอบครัว
จินตนา เผือกคเชนทร์ และครอบครัว
มณฑล เกียรติกมลวงศ์ และครอบครัว
อาทิตย์ โกเมนเอก และครอบครัว
มณฑล วิบูลย์ศิริกุล และครอบครัว
ทัยเทพ วณิชกุลชัยพร และครอบครัว
พิทักษ์ อังศุสิงห์ และครอบครัว
สิทธิศักดิ์ หาญอนุรักษ์ และครอบครัว
วรวุฒิ สันติเวชสกุล และครอบครัว
ปฐมพงศ์ อ่อนนิ่ม และครอบครัว
อภิศักดิ์ เพ็ชรเพ็ง และครอบครัว
สมบูรณ์ แซ่อั้ง และครอบครัว
ตระกูล แซ่อื้อ และครอบครัว
สุภัทร ลักษณศิริ และครอบครัว
สมพร เชื่อมชิต และครอบครัว
ครอบครัวสาธิตการมณี
นิวัตร-ศรีสุดา โลหะวิจิตรานนท์ และครอบครัว
ครอบครัวหวังว่องวิทย์
ครอบครัวขจายศรสิทธิ์
ครอบครัวชีวมงคล
กัญญุมา ศิริโสภณพงศ์ และครอบครัว
จันทรัตน์ ลี้เทียนเซง และครอบครัว
ธงชัย-สิรินภา สิทธิเลิศประสิทธิ์ และครอบครัว
เสาวนีย์ วิชิวานิเวศน์ และครอบครัว
กัลยดา ชาลานุมาศ และครอบครัว
สุภาวดี เพชรรัตน์ และครอบครัว
ชนิน ทิวรรณรักษ์ และครอบครัว
สิทธา ศิริพาณิชย์ และครอบครัว
ชวิล กัลยาณมิตร และครอบครัว
อำนวยพร เกิดพุ่ม และครอบครัว
ประดิษฐ์ ยมานันทน์ และครอบครัว
ชมพูนุช บุญมา และครอบครัว
ดร. พัชราภรณ์ ญาณภิรัต และครอบครัว
ศันสนีย์ สุภาภา และครอบครัว
ดร. วรภัทร์ ภู่เจริญ และครอบครัว
กมล ชาวงษ์ และครอบครัว
กายสิทธิ์ ธำรงวัฒนชัย และครอบครัว
ปรวุฒิ ไชยชนะ และครอบครัว
จรูญ มะลิวรรณ และครอบครัว
บัวแก้ว แสงโสภา และครอบครัว
ธนวี ลิ่มวงศ์ และครอบครัว
วรรณชนก วรณันต์ และครอบครัว
ปุณณิกา นวรัตน ณ อยุธยา และครอบครัว
ทิพรัตน์ เผ่าวิจารณ์ และครอบครัว
ประสิทธิพร พรหมดิเรก และครอบครัว
พิสิฐ - ดร.พันธุดา พุฒิไพโรจน์ และครอบครัว
ดร. อุษณีย์ อนุรุทธิวงศ์
ชวลิต ธรรมวิจิตร และครอบครัว
ดร.ขวัญชัย ลีเผ่าพันธ์ และครอบครัว
ทิพย์ ศรีไพศาล และครอบครัว
ปรีดาวรรณ บูรณะรุ่งเรืองกิจ และครอบครัว
จิทัศ ศรสงคราม และครอบครัว
สุเมธ ติระตระกูลวิชยา และครอบครัว
แสงทวี หงษา และครอบครัว
บัญชา ไชยหงษา และครอบครัว
อิษฎ์ ประพันธ์วัฒนา และครอบครัว
ธนวุฒิ นัยโกวิท และครอบครัว
นิพนธิ์ อุยโต และครอบครัว
นิศาชล วงศ์หล่อ และครอบครัว
ธนวรรณ เหล่าวรวิทย์ และครอบครัว
พูลสุข เหล่าตระกูล และครอบครัว
ลัดดา วิศวผลบุญ และครอบครัว
สุชาดา โรจน์วิลาวัลย์
อังคณา คีตานนท์ และครอบครัว
สุดาศรี ชัยเศรฐเสรี และครอบครัว
กิตติ ขอถาวรวงศ์ และครอบครัว
เจริญสุข กิจอิทธิ และครอบครัว
สุมิตรา ชวศิริกุลฑล และครอบครัว
เกียรติชัย อุดมพงศ์อนันต์ และครอบครัว
ธีรวุฒิ แก้วประภากร และครอบครัว
สุวิทย์ กุลเพชรจิโรจ และครอบครัว
ประสงค์ เบญจวรธรรม และครอบครัว
สิงห์ หุ่นตระกูล และครอบครัว
อุทัย แดงรัศมีโสภณ และครอบครัว
สมจิตต์ วรรณประเวศ และครอบครัว
ประสิทธิ์ โวหเกียรติ และครอบครัว
มยุรี อำนวยพรรณ และครอบครัว
สุชานี แสงสุวรรณ และครอบครัว
กิริยา ด่านสุวรรณดำรง และครอบครัว
ปราณี สุวรรณเมธาจารย์ และครอบครัว
กฤษณา พัวศิริ และครอบครัว
ปริยากร รัตนสุบรรณ และครอบครัว
ดร.บุญยืน สาริกะภูติ และครอบครัว
แก้วขวัญ วัชโรทัย และครอบครัว
เศรษฐพันธ์ มันทรานนท์ และครอบครัว
ปัทมาศ มีครองธรรม และครอบครัว
มะยม พิทักษ์ผล และครอบครัว
วัฒนา เพิ่มสุวรรณ และครอบครัว
นครินทร์ โกวิทนิวัตสัย และครอบครัว
ธีรโชติ เกิดมณี และครอบครัว
บุคลากร สำนักพระราชวัง ทุกท่าน
บุคลากร โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทุกท่าน
บุคลากร ไปรษณีย์ไทย ทุกท่าน
บุคลากร สำนักอัยการสูงสุด ทุกท่าน
บุคลากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทุกท่าน
บุคลากร กรมศิลปากร ทุกท่าน
บุคลากร กระทรวงวัฒนธรรม ทุกท่าน
บุคคลกร สำนักงานพระพุทธศาสนา ทุกท่าน
บุคลากร การเคหะแห่งชาติ ทุกท่าน
บุคลากร สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ทุกท่าน
บุคลากร บริษัท เสริมสุข (มหาชน) ทุกท่าน
สมาชิกสโมสร โรตารี สุขุมวิท และโรตารีสากล
สมาชิกสโมสร ไลออนส์ ธนบุรี และ ธนบุรีรัตน์ และไลออนส์สากล
มหากัลยาณมิตร
1. เพื่อบำรุงส่งเสริมการศึกษา จัดตั้งโรงเรียน เพื้อให้การศึกษาอบรมแก่ นักเรียน ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งให้การศึกษาทางธรรมด้วยอุปการะแก่ภิกษุ สามเณร และแม่ชี ให้ศึกษาธรรม วิชาครู และวิชาพยาบาลเบื้องต้น อุปการะโรงเรียนและอุปการะบุคคล ให้ได้ประกอบสัมมาอาชีพ ตามคติของพระพุทธศาสนา กับเพื่ออบรมกุลบุตร-ธิดา ให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในการประกอบสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งของมรรคสัจอันเป็นหลักสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา และเพื่อเก็บรายได้จากทรัพย์สิน และกิจการของมูลนิธิมาใช้จ่ายในงานนี้
บริจาคได้ที่ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระสังฆราช ได้รับอนุญาตจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2492 (สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมายกำหนด) ชื่อบัญชี สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ เลขที่บัญชี 030-1-00472-2 ออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาราชเทวี และขอให้ท่านแจ้งชื่อและนามสกุล ที่อยู่เพื่อทำหนังสือขอบคุณในการร่วมสนับสนุนในการนี้ด้วย
2. โครงการปลูกรากแก้วให้กับพระศาสนา โดยนำเด็กที่มีปัญหาด้านครอบครัว และยากจนเหล่านั้นมาบรรพชาเป็นสามาเณร ให้พวกเขาได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทั้งแผนกสามัญ (มัยมศึกษา) และแผนกนักธรรม-บาลี ซึ่งเป็นการนำเด็กเหล่านี้เข้ามาอบรมบ่มนิสัยปลูกฝังศีลธรรมคุณธรรมให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของเด็ก เป็นการศึกษาที่เอื้อแก่พระศาสนาและพระศาสนาก็เกื้อหนุนประเทศชาติ สิ่งที่เราจะได้รับตามมาก็คือสามารถแก้ปัญหาจริยธรรมของเด็กนักเรียนไทย ได้การศึกษาราคาถูกที่มีค่าสูงทางจิตใจพร้อมกับสร้างศาสนทายาทคุณภาพเอาไว้สืบพระศาสนาด้วย
ดังนั้นจึงเรียนเชิญท่านที่มีจิตศรัทธามาร่วมกัน สร้างศาสนทายาท ให้กับพระศาสนา โดยการรับเป็นเจ้าภาพบรรพชาสามเณร และรับอุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายในการศึกษา หรือ ถวายเป็นค่าน้ำ-ไฟ ตามกำลังศรัทธา (พระครูสมุห์ถนอมศิลป์ ญาณสาคโร พร้อมด้วยคณะสงฆ์ )
บริจาคได้ที่ บัญชีทุนนิธินิมิตรมงคล เลขที่ 058-2-23285-6 ธนาคารทหารไทย สาขาบางนา ประเภทสะสมทรัพย์ และขอให้ท่านแจ้งชื่อและนามสกุล ที่อยู่เพื่อทำหนังสือขอบคุณในการร่วมสนับสนุนในการนี้ด้วย